‘เควนติน เบลค’ นักวาดภาพประกอบคู่หู ‘โรอัลด์ ดาห์ล’ | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

‘เควนติน เบลค’ นักวาดภาพประกอบคู่หู ‘โรอัลด์ ดาห์ล’—-

“ผมไม่รอแรงบันดาลใจ จริงๆแล้วผมไม่แน่ใจว่าแรงบันดาลใจคืออะไร แต่ผมแน่ใจว่าถ้ามันจะมา การที่ผมเริ่มทำงานเป็นเงื่อนไขให้มันมา” 
—เควนติน เบลค

เควนติน เบลค กลายเป็นสถาบันหนึ่งของชาติไ

ปแล้วเมื่อเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีเกียรติสูงสุดด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก(Children’s Laureate)ของอังกฤษเมื่อปี 1999 พอปี 2002 ได้รับรางวัลสูงสุดระดับนานาชาติที่มอบให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานภาพประกอบวรรณกรรมสำหรับเด็ก Hans Christian Andersen Awards ซึ่งว่ากันว่าเป็นรางวัลโนเบลสำหรับวรรณกรรมเยาวชน ภาพของเบลคมีรายละเอียดน้อย มีความหมายมาก ลายเส้นเรียบง่าย ยุ่งเหยิง เหมือนเขียนเร็วๆหวัดๆไม่ตั้งใจ ทำให้ภาพดูเคลื่อนไหวและน่าตื่นเต้น ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์เล็กๆน้อยๆ เพื่อทำความรู้จักนักวาดภาพประกอบที่สำคัญไม่แพ้นักเขียน

คุณเข้ามหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนศิลปะ?
-จำได้ว่าตอนนั้นผมคิดว่าถ้าผมเข้าโรงเรียนศิลปะ ผมจะไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย..ผมอยากเรียนภาษา ขณะเดียวกันถ้าผมเข้ามหาวิทยาลัยผมยังมีโอกาสทำงานศิลปะได้ ผมเลยไปเรียนภาษาอังกฤษที่เคมบริดจ์ (1953 – 1956) ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าคนเราจะเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นนักเขียนการ์ตูน นักวาดภาพประกอบ หรือศิลปินได้หรือเปล่า แต่คนทั่วไปมองว่าไม่ได้ ผมเลยไปเรียนเพิ่มเติมหลักสูตรครูอีกปีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยลอนดอน พอจบ ผมก็คิดว่าน่าจะลองเป็นศิลปินอะไรสักอย่างดู ผมไปที่โรงเรียนสอนศิลปะเชลซี ไม่เชิงว่าไปเรียนเขียนภาพประกอบหรอก แต่ไปเรียนวาดเส้นกับจิตรกรรมเพิ่มเติม

คุณเริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อไร?
-สัก 5 ขวบได้มั้ง ผมจำได้ว่ามีแขกคนหนึ่งมา เขาทักว่า ‘เอาแต่วาดรูป ไม่ยอมพูด’… ผมเคยวาดภาพให้นิตยสารของโรงเรียน แล้วก็วาดให้นิตยสาร Punch ด้วย ผมรู้ว่ามีคนวาดภาพส่งไปลงได้ ผมเลยลองวาดดูบ้าง ตอนอายุ 16-17 ภาพผมก็ได้ลง ได้เงินมา 7 กินนี ไม่รู้จะทำยังไง มันเป็นเช็คและผมไม่มีบัญชีธนาคาร… พอผมไปเรียนเพิ่มที่เชลซีก็ได้งานเขียนประจำสัปดาห์ละ 2 ชิ้นที่ Punch แล้วก็เริ่มเขียนลงที่ The Spectator 

คุณเริ่มเขียนภาพในหนังสือเด็กได้ยังไง?
-ผมสนใจเรื่องการศึกษา การวาดรูปและภาษา เลยดูเหมือนว่าการวาดภาพประกอบหนังสือเด็กเป็นสิ่งที่ผมทำได้ ผมไม่รู้ว่าเด็กๆ จะชอบหรือเปล่า ตอนนั้นผมอายุ 20 เศษๆ เลยคิดว่าจะวาดไปเรื่อยๆ ก่อน ดูซิว่าพออายุสัก 30 จะเป็นยังไง ถ้าไม่ได้เรื่องก็เลิก ถ้าทำได้ก็ทำต่อ ถึงตอนนั้นมันได้เรื่องได้ราวแล้วผมเลยทำต่อ ตอนเริ่ม ผมไม่รู้จริงๆว่าเริ่มยังไง ผมคุยกับจอห์น เยโอแมน เพื่อนผมว่า “นายเขียนเรื่องไหม ฉันวาดรูปให้” เขาเขียน ผมวาด เรื่องนั้นชื่อ A Drink of Water

แล้วเริ่มเขียนเรื่องเองตั้งแต่เมื่อไร?
-ปี 1968 ผมเขียนเรื่อง Patrick จริงๆแล้วเหมือนเป็นการประท้วงมากกว่าเพราะคนมักมองว่าผมเป็นนักวาดภาพประกอบขาว-ดำ ไม่เคยมีใครให้ผมวาดภาพสีเลย ผมจึงแก้ลำด้วยการเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่เล่นไวโอลินแล้วทำให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนสี เพราะงั้นก็เลยต้องวาดภาพสี

ทำงานกับโรอัลด์ ดาห์ลเป็นยังไงบ้าง?
-เริ่มแรกก็กังวลนิดหน่อย เขาเป็นคนที่น่าเกรงขาม แต่เราเข้ากันได้ดี…ที่น่ารักก็คือเขาอยากได้รูปจริงๆ เขาไม่ชอบใจถ้ายังได้ไม่มากพอ ไม่ใช่นักเขียนทุกคนนะที่เป็นแบบนี้ เราร่วมงานกัน 13 ปี ตั้งแต่ปี 1977 จนกระทั่งเขาเสียชีวิต
………
อ้างอิง
1.บทสัมภาษณ์แปลส่วนหนึ่งจากhttp://www.quentinblake.com/en/meet-qb/qaa
2.เควนติน เบลค : ชีวิตกับการวาดภาพประกอบ โดย ชมนาด บุญอารีย์ วารสารสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ที่มา : http://www.facebook.com/readerships


ปิดทีวี เปิดหนังสือดีกว่า | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

การดูโทรทัศน์ของเด็กเป็น1ใน 10เรื่องเด่นประเดินฮิตในโครงการ “10 เรื่องเลี้ยงลูกยอดฮิต…พิชิตได้” ที่เราได้จากการสอบถามบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานให้คำปรึกษาพ่อแม่ในเรื่อง การเลี้ยงดู และจากการสุ่มสอบถามความต้องการพ่อแม่ว่า เรื่องไหนเป็นปัญหาที่สนใจและต้องการเรียนรู้มากที่สุด
ต้องย้ำและบอกกันชัดๆ อีกครั้งค่ะว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของพ่อแม่หลายๆ คน ที่คิดว่าโทรทัศน์ทำให้ลูกมีสมาธิ เพียงเพราะเห็นว่าลูกนิ่งและสงบลงได้ทันทีที่จอภาพถูกเปิดขึ้น ความ จริงก็คือนอกจากโทรทัศน์จะไม่ได้ช่วยให้ลูกมีสมาธิแล้ว ยังทำให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนรู้หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้น้อยลงอีกด้วย

อีกทั้งในวัยเด็กนั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการในทุกๆ ด้านของชีวิตค่ะ เด็กต้องการความรัก ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่ ต้องการคน”ที่จะเป็นแม่แบบในการถ่ายทอดภาษา แนวคิด การกระทำ ต้องการการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสของจริง ต้องการกิจกรรมและคนที่จะคอยช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งความต้องการเหล่านี้โทรทัศน์ที่เป็นเครื่องจักรไร้ชีวิตไม่สามารถให้ได้

นอกจากนี้เด็กยังต้องการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการ เรียนรู้และการทำงานของ สมอง และสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดนั้นก็คือ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองนั่นแหละค่ะ เพราะระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่กอด พูดคุย เล่นหยอกล้อ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกับลูกนั้น ประสาทสัมผัสต่างๆ ของลูกกำลังได้รับการกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้เห็นหน้าตา สีหน้าของพ่อแม่ ได้ยินเสียง ได้รับการสัมผัสโอบกอดจากพ่อแม่ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้คิด ได้พูดคุยโต้ตอบ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองสมองน้อยๆ ของลูกกำลังทำงานอย่างเต็มที่ โดยมีการขยายเครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างใยประสาท ซึ่งถ้าประสาทสัมผัสต่างๆ ของเด็กได้รับการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ จุดเชื่อมต่อเหล่านี้ก็จะยิ่งพัฒนาแข็งแรงมากขึ้น จนกลายเป็นวงจรที่สมบูรณ์ แต่ถ้าไม่มีการใช้งานเซลล์สมองเหล่านั้นก็จะหมดสภาพและลีบฝ่อไปในที่สุด

ดังนั้นคิดดูง่ายๆ นะคะว่าถ้าวันหนึ่งๆ ลูกเรานั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โอกาสที่เขาจะได้ฝึกฝนการเคลื่อนไหวร่างกาย พูดคุยโต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็จะน้อยลง เพราะโทรทัศน์เป็นการสื่อสารทางเดียว (one way communication)ซึ่งนั่นอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารของลูก เช่น พูดช้าตามมาได้ ถ้าเรายังปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์จนเป็นกิจวัตร จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าโทรทัศน์ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสมองและพัฒนาการของ เด็กๆ เท่าไหร่ ไม่นับรวมผลลบในด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าพฤติกรรมเลียนแบบทั้งท่าทาง คำพูดไม่น่าเอ็นดู พฤติกรรมก้าวร้าวที่ลูกจำมาจากในทีวี ความคิดจินตนาการที่ค่อยๆ หดหายไป ปัญหาสุขภาพที่จะตามมา เช่น ปัญหาสายตาจากการที่ดูโทรทัศน์มากๆ ในระยะใกล้ๆ หรือโรคอ้วนจากการที่ลูกมีพฤติกรรมดูไปด้วยกินไปด้วยจนเป็นนิสัย

สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เราต้องหาทางเลือกที่ดีสำหรับ การ เรียนรู้ของลูกไปพร้อมๆ กับมีมาตรการการใช้โทรทัศน์ในบ้านของเราให้มากยิ่งขึ้นค่ะ

เปิดนิทาน…พัฒนาลูก Albert Einstein กล่าวไว้ว่า “หากอยากให้เด็กฉลาดหลักแหลมเล่านิทานให้เขาฟัง และหากอยากให้เด็กฉลาดมากขึ้นเล่านิทานให้มากขึ้น” เพราะการฟังนิทานแต่ละเรื่องนั้นเด็กๆ ต้องใช้พลังในการจินตนาการ ขณะเดียวกันนั้นเซลล์สมองของเด็กก็จะมีพัฒนาจุดเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้น ยิ่งได้ฟังซ้ำๆ การเชื่อมต่อนั้นก็ยิ่งมีประสิทธิภาพและมั่นคงมากขึ้น นั่นหมายถึงความสามารถในการคิด การเรียนรู้ และการจินตนาการก็มีมากขึ้นด้วย และนิทานยังใช้เป็นสื่อในการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเรียนรู้หลักคิด ศีลธรรม การให้คุณค่าหรือค่านิยมในการดำเนินชีวิตต่างๆ ได้ โดยการสอดแทรกผ่านเรื่องราวในนิทาน และสำหรับเด็กแล้วความน่าสนใจของนิทานไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าโทรทัศน์เลย เพราะนิทานมีรูปภาพเรื่องราวน่าติดตาม มีน้ำหนักเสียงหนักเบา ลีลาการเล่าของพ่อแม่ มีความอบอุ่นใกล้ชิดจากคนที่เด็กรัก ถ้าเพียงแต่เราจะเติมเต็มช่วงเวลาของลูกด้วยนิทานที่ลูกชอบอย่างสม่ำเสมอ

การพานิทานเข้าไปเป็นที่หนึ่งในใจลูกแทน โทรทัศน์ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ที่เหนือกว่าโทรทัศน์คือ นิทานฟังบ่อย เล่าบ่อยแค่ไหน หรือต่อให้เล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำก็ไม่มีพิษมีภัยกับวัยเด็ก ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีกับเด็กมากเท่านั้น

ตัวอย่างกิจกรรมที่สะท้อนการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น โครงการ Book Start ที่มีจุดประสงค์ให้เด็กรู้จัก คุ้นเคยกับหนังสือและการอ่านตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยเด็กแรกเกิดจะได้รับถุงของขวัญซึ่งภายในจะมีหนังสือนิทาน และคู่มือแนะนำพ่อแม่ถึงวิธีการเลือกหนังสือ ใช้หนังสือกับลูก และโครงการถุงรับขวัญที่มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือ และแนะนำแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองเด็กให้กับพ่อแม่ โดยภายในบรรจุสื่อเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น หนังสือ ของเล่นเสริมพัฒนาการ เทปเพลงกล่อม ฯลฯ แจกให้กับเด็กที่เกิดในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ถึง 27 กรกฎาคม 2549 ฉลาดใช้…รู้เท่าทันทีวี ภาพเคลื่อนไหว แสงสี เรื่องราวที่ชวนติดตามและความสนุกจากจอโทรทัศน์เป็นตัวล่อ และดึงดูดความสนใจของเด็กให้ติดกับได้อย่างดีอยู่แล้ว แล้วถ้าคุณพ่อคุณแม่เองมีความคิดว่าต้องใช้ทีวีเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ลูกอยู่นิ่งๆ ให้เรามีเวลาได้จัดการธุระส่วนตัวบ้าง หรือตัวเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ติดโทรทัศน์เหมือนกัน ก็ยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ลูกเล็กๆ ของเรามีเพื่อนรักเป็นโทรทัศน์ได้ไม่ยาก ยิ่งในปัจจุบันที่สื่อมีความหลากหลายมากขึ้น พ่อแม่ไม่ใช่แค่รับมือกับโทรทัศน์ช่องปกติ (Free TV) เท่านั้น แต่ยังต้องคอยรับมือกับเคเบิ้ลทีวีที่มีรายการมาเสิร์ฟถึงห้องนอนตลอด 24 ชั่วโมง ไหนจะวีซีดี เกมคอมพิวเตอร์อีก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ถ้าเพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จำกัดเวลาในการดูโทรทัศน์ของลูก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ควรหลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์ค่ะ ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 2 ขวบ วันหนึ่งๆ ไม่ควรให้ลูกอยู่หน้าจอโทรทัศน์นานเกิน 1-2 ชั่วโมง ที่สำคัญเราเองต้องเคร่งครัดกับสิ่งที่กำหนดนะคะ เพราะจะทำให้เราฝึกนิสัยการไม่เป็นเด็กติดโทรทัศน์ของลูกได้ผลมากขึ้น

  • ต้องเป็นพ่อแม่ช่างเลือกค่ะ คือรู้จักที่จะคัดสรร รายการที่ดี ที่เหมาะสม มีการสอดแทรกเนื้อหาในเชิงบวกให้กับลูก แม้แต่การ์ตูนเองก็ต้องเลือกที่ลูกดูแล้วจะได้เรียนรู้จากเรื่องราวนั้นๆ ด้วย อย่าเห็นว่าขอให้เป็นการ์ตูนก็ใช้ได้นะคะ เพราะในการ์ตูนหลายเรื่องก็มีฉากการต่อสู้ การแสดงออกที่ก้าวร้าว ซึ่งลูกจะค่อยๆ ซึมซับรับเข้ามา และแสดงออกในลักษณะเดียวกันได้
  • เป็นเพื่อนดูไปด้วยกันกับลูก และใช้รายการโทรทัศน์เป็นสื่อนำในการชักชวนลูกพูดคุย เรียนรู้และสนุกไปด้วยกัน อย่าปล่อยให้โทรทัศน์แย่งลูกและเวลาที่มีค่าไปจากเราค่ะ
  • ตำแหน่งโทรทัศน์ในบ้านก็สำคัญ ในห้องนอนลูกไม่ควรมีโทรทัศน์ตั้งอยู่และไม่ควรเสียบปลั๊กโทรทัศน์ทิ้งไว้ ให้เด็กกดเปิดเองได้สะดวก เด็กๆ แค่เขาเห็นเราเปิดไม่กี่ครั้งก็จำและทำตามได้แล้วค่ะ
  • มีทางเลือกในการทำกิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกเช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ เล่นเครื่องเล่นสนาม ต่อบล็อก เล่นขายของ เล่นบทบาทสมมติ ทำงานศิลปะ ถ้านึกไม่ออกก็ชวนลุกเล่นการละเล่นสมัยก่อนที่คุณพ่อคุณแม่ เคยเล่นเมื่อครั้งเป็นเด็กสิคะ หรือชวนลูกช่วยทำงานบ้าน เช่น ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ หรือไปเที่ยวนอกบ้าน ไปช็อปปิ้ง ปิกนิกหรือทำธุระกับคุณพ่อคุณแม่นอกบ้านบ้าง เป็นต้น
  • ระวัง อย่าให้ตัวเราเองกลายเป็นแบบอย่างของการดูโทรทัศน์ให้ลูกไป เราควรเป็นแบบอย่างในการทำกิจกรรมที่อยากส่งเสริมให้ลูก เช่น เวลาว่างอ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ แทนการดูโทรทัศน์ เป็นต้น

วิธีดังกล่าวไม่ยากเกินแรงคุณพ่อคุณแม่เลยใช่ไหมคะ เห็นโทษของการปล่อยปละให้ลูกอยู่กับเจ้าเครื่องสี่เหลี่ยมไร้ชีวิตอย่างนี้ แล้วเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังนับแต่วินาทีนี้เลยค่ะ

จาก – นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 270 กรกฎาคม 2548


เกริ่นนำ คอลัมน์รวมบทความจากอาจารย์ลาภ อำไพรัตน์ | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

รวมบทความจากอาจารย์ลาภ อำไพรัตน์

อาจารย์ลาภ ได้ส่งบทความมาให้เผยแพร่ในเว็บของสถาบันการ์ตูน

เพื่อให้ผู้สนใจได้อ่านบทความของอาจารย์เพื่อเพิ่มเติมความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ

เนื่องจากเว็บไซต์ของสถาบันฯ มีการย้ายมาอยู่บ้านใหม่แห่งนี้

ก็ยังไม่มีโอกาสนำงานที่อาจารย์เคยส่ง ๆ ไว้ นำมาลงเผยแพร่ซักที

หลังจากนี้ก็ได้โอกาสแล้วที่จะนำงานที่หายไป และงานใหม่ ๆ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ


รวมบทความจากอาจารย์ลาภ อำไพรัตน์-จิตรกรไทย

รวบรวมคำคม, ความเรียง, คำถามพร้อมคำตอบเรื่องปัญหาศิลปะ อ.ลาภ อำไพรัตน์

เป็นผู้บุกเบิกและก่อตั้งกลุ่มศิลปะวาดภาพเหมือนเชิงสะพานพุทธ กรุงเทพฯ,

ครูแผนกวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี,

ครูแผนกศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี,

อาจารย์พิเศษ (วิชาจิตรกรรม) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จบการศึกษาระดับศิลปบัณฑิต (ศบ.) จากคณะจิตรกรรม โรงเรียนเพาะช่าง ด้านวิชาการ-

ได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2550,

รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม (ด้านศิลปะ) ระดับประเทศ ประจำปี 2551

และได้รับคัดเลือกให้เป็นครูดีเด่นผู้มีผลงานดีเด่นด้านการทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนหลายครั้ง

ด้านวงการศิลปะ-ได้รับรางวัลเกียรติคุณในการประกวดแข่งขันศิลปกรรมจากเวทีการประกวดต่างๆ หลายครั้ง

ปัจจุบัน-เป็นข้าราชการประจำกรมศิลปากร แต่ใจยังรักการสอนหนังสืออยู่

นอกจากเป็นข้าราชการประจำกรมศิลปากรแล้ว ยังเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับศิลปะ,

นักวาดภาพประกอบ, คอลัมนิสต์, นักสนับสนุนผู้สนใจในศิลปะ,

ผู้ให้ความรู้ด้านศิลปะกับผู้สนใจทั่วไป โดยเดินทางไปสาธิตและบรรยายมาแทบทั่วทุกจังหวัด

อีกทั้งยังเป็นนักเขียน นักคิด นักแหกกฎคนสำคัญของวงการศิลปะ

ทุกวันนี้นอกจากจะสนใจในศิลปะแนวสัจนิยมเป็นหลัก

ยังสนใจในเรื่องของการถ่ายภาพด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมที่

https://www.facebook.com/hyperdrawing

https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A0-%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%8C/130169937082511


ที่มาของการ์ตูน | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

ที่มาของการ์ตูน
  การ์ตูนที่เราๆท่านๆอ่านกันทุกวันนี้นั้น หากย้อนกลับไป ก็คงจะเริ่มต้นที่ยุโรป ประมาณคริสต์ศตวรรษที่13 ช่วงเรเนซองต์ ซึ่งการ์ตูนนั้นก็มีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาเลี่ยน catone ซึ่งแปลว่า กระดาษผืนใหญ่ และ ในสมัยนั้นก็ยังเป็นงานศิลปะแบบเฟรสโก้
(เป็นงานภาพพวกสีน้ำมัน) โดยเฉพาะผลงานของ ลีโอนาร์โด้ ดาวินซี่ และ ราฟาเอลนั้นจะมีราคาสูงมาก

  และจากนั้น การ์ตูนของแต่ละชาติและแต่ละพื้นที่ก็มีการพัฒนาแตกต่างกันไป จนเป็นสิ่งที่เราเห็นกัน ก็คือ มีการเดินเรื่องกันเป็นช่องสี่เหลี่ยม และมีการใส่คำพูดของ ตัวการ์ตูนในแต่ละช่องด้วย หรือเรียกกันว่า คอมิค 

  การ์ตูนฝรั่ง 
  โดยเริ่มต้น ที่ ยุโรป สมัยคริสศตวรรษที่18 โดยมีการค้นพบ ภาพร่างของการ์ตูนของWilliam Hogarth นักวาดการ์ตูนชาวอังกฤษ ในปี 1843 นิตยสารPunch ก็ได้ลงการ์ตูนล้อเลียนการเมืองของJohn Leech และถือว่า เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสืออย่างเป็นทางการอีกด้วย
ซึ่งในช่วงนั้นเองการ์ตูนเสียดสีทางการเมืองเป็นที่นิยมมากในอังกฤษอีกด้วย และจากจุดเริ่มต้นนี้เอง ก็ทำให้ประเทศอื่นๆอย่าง เยอร์มัน จีน ก็เริ่มตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนลงในสื่อต่างๆด้วย 

   ในปี 1884 Ally Sloper’s Half Holiday ก็เป็นนิตยสารการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกตีพิมพ์อีกด้วย
 ในคริสต์ศตวรรษที่20 งานการ์ตูนก็เริ่มมีความแตกต่างจากนิยายภาพเรื่อยๆ ช่วงต้นศตวรรษที่20 ในสหรัฐฯ ก็มีการตีพิมพ์การ์ตูนลงในหนังสือพิมพ์ และรวมเล่มซึ่งจะเน้นแนวขำขันเป็นหลัก 

 ในปี1929 ติน ติน ผจญภัย การ์ตูนแนวผจญภัยก็ได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ของเบลเยี่ยม ซึ่งตีพิมพ์ลงสีขาวดำในขณะนั้น 
ส่วนการ์ตูนภาพสีนั้น ก็เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกที่สหรัฐ และ The Funnies ก็จัดว่าเป็นการ์ตูนภาพสีเรื่องแรกอีกด้วย


ช่วงสงครามโลกครั้งที่2นั้น คนทั่วโลกก็ปั่นป่วน สังคมก็เริ่มมีปัญหา ซึ่งทำให้มีผลต่องานการ์ตูนในยุคนั้นก็คือ จะเน้นแนวซุปเปอร์ฮีโร่ อย่างซุปเปอร์แมน เป็นต้น 
และในปัจจุบันนั้น การ์ตูนฝรั่งก็เริ่มที่จะมีหลากหลายแนวมากขึ้น เนื้อเรื่องมีมิติมากขึ้น รวมไปถึงเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมีการให้ทุนการศึกษาในการพัฒนาด้านการ์ตูนอีกด้วยในปี 1980

ติน ติน ผจญภัย

Ally Sloper’s Half Holiday ปี1884

     

   การ์ตูนญี่ปุ่น
  ส่วนพัฒนาการของการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น ก็เริ่มมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่2 มังงะ(manga) เริ่มพัฒนาให้ทันสมัยและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่ง มังงะนั้น ก็เป็นการนำ อุกิโยเอะ (ภาพเขียนแบบญี่ปุ่น ซึ่งจะเน้นความคิดและอารมณ์มากกว่าลายเส้นและรูปร่าง) กับการเขียนภาพแบบตะวันตกมารวมกัน ซึ่งคำว่ามังงะ นั้นก็แปลตรงๆว่า ความไม่แน่นอน ซึ่งเริ่มต้นจากหนังสือโฮคุไซ มังงะ ส่วนอีกเล่มหนึ่งก็คือ งิงะ ซึ่งเป็นภาพล้อเลียนจากศิลปิน12ท่าน ซึ่งดูแล้วจะใกล้เคียงกับมังงะมากที่สุด


ภาพอุกิโยเอะ

จุดเริ่มต้นของการพัฒนานั้นก็มาจากการค้าขายระหว่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น ญี่ปุ่นในขณะนั้นต้องการที่จะพัฒนาไปสู่สังคมใหม่ ก็เลยมีการจ้างศิลปินชาวตะวันตกให้เข้ามาสอนศิลปะ สไตล์ตะวันตกทั้งด้านลายเส้น สี หรือ รูปร่าง ซึ่งเป็นส่วนที่ภาพอุกิโยเอะไม่มีนั้นมารวมกัน เป็น มังงะหรือ การ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน และการ์ตูนญี่ปุ่น ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสั่งยกเลิก การคว่ำบาตรสื่อต่างๆ ซึ่งมังงะในยุคแรกๆนั้น จะออกไปทางนิยายภาพมากกว่า หลังจากนั้น เท็ตซึกะ โอซามุ 
ก็เป็นผู้ที่พัฒนาการ์ตูนแบบญี่ปุ่นให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น และเป็นอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ จนได้รับการขนานนามว่า ปรมาจารย์แห่งการ์ตูนญี่ปุ่น และนักเขียนการ์ตูนยุคหลังๆก็ได้พัฒนาแนวคิดของ เนื้อเรื่องไป สร้างสรร จนได้การ์ตูนเรื่องสนุกที่หลายคนชื่นชอบกัน และความนิยมของการ์ตูนญี่ปุ่นก็แพร่กระจายความนิยมไปยัง เอเชีย ยุโรป รวมถึงอเมริกา และมีผลทำให้การ์ตูนเรื่องใหม่ๆทางฝั่งตะวันตกก็ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย(อย่างเช่น เรื่อง Witch เป็นต้น)

   การ์ตูนไทย
   ส่วนพัฒนาการของการ์ตูนไทยนั้น ก็เริ่มมาจากงานภาพวาดบนกำแพงตามวัดต่างๆ หลังจากที่ไทยเรา เริ่มพัฒนาประเทศให้เข้ากับวัฒนกรรมตะวันตกนั้นเอง การ์ตูนไทยก็เริ่มมีบทบาทที่เป็นรูปภาพประกอบเนื้อเรื่องในนิยาย หรือเรียกอีกอย่างก็คือ นิยายภาพ โดยเฉพาะการ์ตูนการเมือง
   ในปีพ.ศ.2500 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของหนังสือการ์ตูนไทย มีการตีพิมพ์รวมเล่มจากหนังสือพิมพ์ และ วารสาร โดยมี เหม เวชกร และ จุก เบี้ยวสกุล เป็นนักเขียนที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น หลังจากนั้นก็มีการตีพิมพ์เป็นการ์ตูนเล่มละบาท ซึ่งเป็นแนวสยองขวัญ ตามด้วย การ์ตูนแก๊กเน้นตลก อย่าง ขายหัวเราะ มหาสนุก หนูจ๋า และ เบบี้ ที่ยังคงขายดีจนถึงปัจจุบัน 
ส่วนการ์ตูนไทยตามแบบสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นนั้น ก็เพิ่งจะตื่นตัวไปไม่กี่สิบปี โดยจุดเริ่มต้น มาจากนิตยสารไทยคอมิค ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ และจากจุดนี้นี่เองก็ทำให้การ์ตูนไทยที่ทำท่าจะผีเข้าผีออกก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของคนอ่านมากขึ้น ในสไตล์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูนแปลงจากวรรณคดี บุคคลสำคัญ ,Joe-theSeacret Agent ,มีด13,การ์ตูนเสนอมุมมองใหม่ๆอย่าง HeSheIt, นายหัวแตงโม รวมไปถึง การ์ตูนดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกและคุณทองแดง

 

 

 

 

อ้างอิงจาก

http://en.wikipedia.org
คอลัมน์ Legend of Animation จาก นิตยสาร @nime ฉบับที่1
“การ์ตูนไทยสายพันธุ์ใหม่” ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11/5/47

http://www.kartoon-discovery.com/history/history1.html


ประวัติการตูนไทย | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

การ์ตูนไทย ประวัติจากคำบอกเล่า เริ่มจากเป็นการ์ตูนแนวนิยายพื้นบ้าน ผี และแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ราคาเล่มละ 1 บาท นักเขียนการ์ตูนไทยที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น เช่น จุก เบี้ยวสกุล   ต่อมาเริ่มมีการ์ตูนไทยแนวตลกสั้น ๆ ในลักษณะ การ์ตูน 3 ช่องจบ ออกมาเพิ่ม เช่น หนูจ๋า เบบี้  ขายหัวเราะ และมหาสนุก

          ภาพยนตร์เรื่องผีสามบาท นำมาจากการ์ตูนไทยในสมัยก่อน โดยเนื้อเรื่องมีผีสามตนจากการ์ตูนเล่มละบาท 3 เล่ม เท่ากับ 3 บาท จึงตั้งชื่อว่า ผีสามบาท

          ส่วนการ์ตูนไทยในลักษณะมังหงะอย่างที่พบเห็นโดยทั่วไปในปัจจุบัน น่าจะมีมาไม่ถึงยี่สิบปี โดยนิตยสารการ์ตูนไทยในแนวมังหงะยุคบุกเบิกได้แก่ ไทคอมมิค (Thai Comic) ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ และ เอ-คอมมิค (a-comic)

ประวัติการ์ตูนไทย

          ยุคแรก 

          ภาพล้อฝีมือขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมืองคนแรกของไทย  ประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยเริ่มจากการเข้ามาของวิทยาการเขียนภาพแบบตะวันตก ซึ่งขรัวอินโข่ง จิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้นำมาใช้เป็นคนแรกในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในลักษณะเหมือนจริง หลายคนจึงถือกันว่าท่านเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยคนแรก

          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ภาพล้อเลียนหรือการ์ตูนในเมืองไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะแนวการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ยุคนี้ได้มีนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกเกิดขึ้น คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) แม้รัชกาลที่ 6 เองก็ทรงโปรดการ์ตูนลักษณะดังกล่าว ดังปรากฏหลักฐานว่า มีภาพวาดฝีพระหัตถ์ล้อเหล่าเสนาบดีและข้าราชบริพารในพระองค์อยู่เสมอๆ ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย


                                                                                ภาพล้อ   ฝีมือขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) 
                                                                                    นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกของไทย


          ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 วงการการ์ตูนซบเซาลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ จนถึง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้นักเขียนการ์ตูนมีเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นมากขึ้น จึงมีนักเขียนการ์ตูนมีชื่อเสียง เกิดขึ้นในยุคนี้หลายคน อาทิ สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้นำเรื่องสังข์ทองมาวาด เป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทย ลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และเจ้าของตัวการ์ตูน “ขุนหมื่น” ซึ่งดัดแปลงมาจากป๊อบอายและมิกกี้ เมาส์ โดยเป็นตัวตลกแทรกอยู่ในการ์ตูนจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องต่างๆ ต่อมานักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ จึงสร้างการ์ตูนตัวหลักของตัวเองขึ้นมาบ้าง นอกจากนี้ยังมีนักเขียนการ์ตูนแนวเดียวกับ สวัสดิ์ จุฑะรพ คนอื่นๆ เช่น วิตต์ สุทธิเสถียร จำนงค์ รอดอริ ส่วนนักเขียนการ์ตูนในยุคเดียวกัน แต่วาดคนละแนวก็มีเช่นกัน เป็นต้นว่า ฉันท์ สุวรรณบุณย์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนเด็กเป็นคนแรกของประเทศไทย


                                       ภาพล้อ  ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต

                                                 (แหล่งที่มา สุภาพ  ดวงดี : ลีลาการวาดภาพการ์ตูน ศึกษานิเทศก์,หน่วย เขตการศึกษา 11)



ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ยุคทอง)

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การ์ตูนไทยซบเซาลงมากจากภัยสงครามเช่นเดียวกับวงการวรรณกรรม เมื่อสิ้นสงครามแล้ว วงการการ์ตูนไทยจึงฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ในยุคนี้ปรากฏนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของฉายา “ราชาการ์ตูนไทย” ซึ่งได้วาดทั้งการ์ตูนตลกและการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ในยุคเดียวกันนี้ก็มีนักวาดภาพประกอบผู้โด่งดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ เหม เวชกร ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าท่านก็วาดการ์ตูนด้วยเหมือนกัน

          พ.ศ. 2495 ได้มีการ์ตูนเด็กเกิดขึ้นเป็นเล่มแรก คือ หนังสือการ์ตูน “ตุ๊กตา” อันเป็นผลงานของนักเขียนการ์ตูนพิมล กาฬสีห์ มีตัวละครหลักสี่คน คือ หนูไก่ หนูนิด หนูหน่อย และหนูแจ๋ว และประสบความสำเร็จอย่างสูง (เลิกออกประมาณ พ.ศ. 2530 เนื่องจากพิมล กาฬสีห์ เสียชีวิต) หลังจากนั้น จึงมีการ์ตูนเด็กออกมาอีกหลายเล่ม เช่น การ์ตูน “หนูจ๋า” ของ จุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) ซึ่งเริ่มวางแผงเล่มแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2500 และที่ได้รับความนิยมตามมาอีกเล่มก็คือการ์ตูน “เบบี้” ของ วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ ซึ่งเริ่มวางแผงฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ตัวการ์ตูนหลักของเบบี้นั้นมีมากถึงสิบกว่าคน บางตัวก็มีการนำไปแสดงหนังโฆษณาก็มี คือคุณโฉลงและคุณเต๋ว หนังสือทั้งสองเล่มนี้อยู่ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น และยังคงออกมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังสือการ์ตูนเด็กที่แฝงสาระมากอีกเล่มหนึ่งก็คือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน ซึ่งมี ทาร์ซานกับเจ้าจุ่น เป็นตัวชูโรง ผู้วาดก็คือ รงค์ นักเขียนการ์ตูนนิยายภาพที่สร้างชื่อเสียงในชัยพฤกษ์การ์ตูน อย่างเช่น เตรียม ชาชุมพร ที่เขียนเรื่อง “เพื่อน” โอม รัชเวทย์ สมชาย ปานประชา พล พิทยกุล เฉลิม อัคภู ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว

          นักเขียนคนอื่นที่มีชื่อเสียงร่วมสมัยได้แก่ พ.บางพลี (เจ้าของผลงานเรื่อง อัศวินสายฟ้า และศรีธนญชัย), ราช เลอสรวง, จุก เบี้ยวสกุล ฯลฯ ซึ่งในยุคนี้ส่วนมากจะนิยมวาดการ์ตูนเรื่อง บางเรื่องยาวเป็นร้อยๆ หน้า นับว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนเรื่องทีเดียว

          ยุคต่อเนื่องจาก ชัยพฤกษ์การ์ตูน กลุ่มนักเขียนการ์ตูนแนวหน้า 5 ท่าน มารวมกลุ่มกันใหม่ชื่อว่า “กลุ่มเบญจรงค์” เปิดเป็นสำนักงานเล็กแถวสี่แยกเสือป่า ถนนเจริญกรุง โดยมี เตรียม ชาชุมพร, โอม รัชเวทย์, สมชาย ปานประชา, พล พิทยกุล, เฉลิม อัคภู ทำหนังสือการ์ตูนรายเดือน ขึ้นมา ชื่อ “เพื่อนการ์ตูน” วางขายอยู่ในตลาดได้พักใหญ่ก็ปิดตัวลง ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ก็มีกล่มทำงานเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ซึ่งห้องข้างๆของ กลุ่มเบญจรงค์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสำนักพิมพ์คุณภาพผลิตหนังสือสำหรับเด็กมากมายนั่นคือสำนักพิมพ์ห้องเรียนโดยคนคุณภาพอย่าง คุณศิวโรจน์, คุณเล็ก เป็นกำลังสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น

ปกการ์ตูนนิยายภาพสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นวาดโดย ราชันย์

ยุคซบเซา

           ยุคที่การ์ตูนไทยเงียบหาย แต่ยังแอบทำหน้าที่เงียบๆ ตามซอกหลืบ เป็นการ์ตูนราคาถูกที่พอให้ผู้อ่านหาซื้อได้โดยเบียดเบียนเงินในกระเป๋าให้น้อยที่สุด อาจลดคุณภาพลงบ้างตามความจำเป็น นี่คือยุคของ “การ์ตูนเล่มละบาท” โดยเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สากล ต่อมาหลายสำนักพิมพ์ก็ทำตามออกมา สำนักพิมพ์สุภา,สำนักพิมพ์สามดาว, บางกอกสาร์น เป็นต้น นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่การ์ตูนไทยทำหน้าที่เพื่อต่อผ่านไปยังการ์ตูนยุคต่อมา แม้กระนั้นนักเขียนการ์ตูนไทยยุคนั้นก็ฝากฝีมือไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมหลายท่านด้วยก้น เช่น นักรบ รุ่งแก้ว,รุ่ง เจ้าเก่า,เพลิน,เทพบุตร, ชายชล ชีวิน,แมวเหมียว,ราตรี,น้อย ดาวพระศุกร์,ดาวเหนือ,มารุต เสกสิทธิ์ เป็นต้น โดยบางครั้งก็ได้นักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนหน้านั้นช่วยเขียนปกให้ เพื่อเสริมคุณภาพขึ้นอีกระดับหนึ่ง เช่น จุก เบี้ยวสกุล เป็นเหตุทำให้การ์ตูนเล่มละบาท ได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมากในยุคหนึ่ง จนสามารถทำให้คำว่า”การ์ตูนเล่มละบาท” กลายเป็นตำนาน เป็นชื่อเฉพาะ และเป็นสัญลักษณ์ ที่เรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสไตล์การ์ตูนที่มีลักษณะเฉพาะ

สำนักพิมพ์ที่เป็นแหล่งรวมของนักวาดการ์ตูน มีมากมาย เช่น บางกอกสาส์น, ชนะชัย การ์ตูนเล่มละบาทนี้เป็นที่ฝึกฝนฝีมือของนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ นักเรียนศิลปะที่ต้องการหารายได้ในระหว่างเรียนหนังสือ ปัจจุบันหลายท่านกลายเป็นนักเขียนการ์ตูนคุณภาพระดับแนวหน้าของเมืองไทย

แนวเนื้อเรื่องของการ์ตูนเล่มละบาท มีทั้งเรื่องผี, เรื่องชีวิต, นิทาน, เรื่องตลก, เซ็กซ์ โดยเฉพาะเรื่อง “ผี” เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากของผู้อ่าน เป็นความตื่นเต้นแบบง่ายๆ ที่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด



ยุคปัจจุบัน

          ปัจจุบัน การ์ตูนไทยที่ถือได้ว่าครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในเวลานี้ก็คือ ขายหัวเราะ-มหาสนุก-ไอ้ตัวเล็ก-หนูหิ่นอินเตอร์ และหนังสือการ์ตูนอื่นๆ ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งแนวการ์ตูนจะเป็นการ์ตูนประเภทการ์ตูนแก๊กและการ์ตูนเรื่องสั้นจบในตอนเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพัฒนาการ์ตูนไทยในรูปแบบคอมมิคขึ้น จากกลุ่มคนที่มีประสบการณ์การอ่านการ์ตูนแนวมังงะของญี่ปุ่น เท่าที่ปรากฏในเวลานี้ สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์การ์ตูนไทยแนวดังกล่าวได้แก่ สำนักพิมพ์บุรพัฒน์ สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ และสำนักพิมพ์เนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์ ตลาดของการ์ตูนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เน้นที่กลุ่มวัยรุ่น ในขณะที่การ์ตูนนิยายภาพแบบดั้งเดิมยังคงมีการผลิตอยู่เรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะอิงกับตลาดระดับล่าง เช่นหนังสือเล่มละบาท ซึ่งปัจจุบันปรับตัวมาขายในราคาเล่มละห้าบาท

                                                                                  หน้าปกการ์ตูนขายหัวเราะฉบับที่  1 พ.ศ. 2529                               

การ์ตูนไทยแนวมังงะ

          ขณะที่การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาเผยแพร่ในไทยก็ได้มีคนกลุ่มหนึ่งอยากผลิดการ์ตูนขึ้นเองบ้าง แต่ก็มีลายเส้นป็นเอกลักษ์เฉพาะตัวจะเห็นได้จากพวกที่วางขายของ hand made ตามถนน แต่บางพวกก็ส่งผลงานเข้าสำนักพิมพ์ที่อยู่ในไทย เช่น สำนักพิมพ์บงกชพับลิชชิ่ง สำนักพิมพ์ NED  ก็มี ส่วนมากยังไม่มีการสอนวาดรูปการ์ตูนชนิดนี้อย่างเป็นทางการสักเท่าไหร่ ส่วนมากนั้นจะเป็นการเขียนเองโดยใช้พรสวรรค์เสียมากกว่า และมักจะไม่พบเห็นกันง่ายๆ อีกทั้งงานประจำปีของการ์ตูนก็ยังมีแค่กรุงเทพเท่านั้นทำให้นักเขียนเลือดใหม่ที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพมีโอกาสแสดงฝีมือได้น้อยลง



แหล่งที่มา    :    http://blog.eduzones.com/mona/2838

                 :        http://th.wikipedia.org/wiki/


ชีวิตในช่ิองสี่เหลี่ยม ของ “วิศุทธิ์ พรนิมิตร” | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

การ์ตูนที่ดีต้องมาจากชีวิต”

อาจกล่าวได้ว่า พี่ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร และ “hesheit” เป็นต้นแบบของการ์ตูนพ็อคเก็ตบุ๊ค ที่เน้นการนำเสนอแนวคิดไปพร้อมกับภาพ ซึ่งกำลังเป็นทางเลือกใหม่มาแรงในแวดวงการ์ตูนไทย เช่นเดียวกัน การสร้างงานที่เขาเชื่อว่า “ไม่ต้องคิด ทำเท่าที่ทำได้จะได้ทำได้เลย” สามารถโดนใจนักอ่านชาวญี่ปุ่น กระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองในประเทศต้นตำรับของการ์ตูนคอมิคทั่วโลก
บทสนทนาขนาดสั้นต่อจากนี้สะท้อนแนวคิดมองต่างมุมของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร ภายใต้คำพูดง่ายๆ เช่นเดียวกับลายเส้นเรียบง่ายไม่กี่ช่องของเขาที่มัก “ถมดำ” ด้วยปรัชญาชีวิตแบบที่เรานึกไม่ถึง

ทำไม “hesheit” จึงประสบความสำเร็จจนสร้างชื่อให้พี่ตั้มเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการ์ตูน
มีหลายองค์ประกอบ ตอนนั้นใครลง “มังกะ แคช” (Manga Katch) ก็ต้องดัง อีกส่วนคิดว่างานเรามาจากยุคนั้น คือเรารู้สึกอะไรก็เขียนลงไป เขียนประสบการณ์ชีวิต มีแฟน ไม่มีที่จอดรถ ขึ้นรถเมล์ กินก๋วยเตี๋ยว คนอ่านก็คงเข้าใจความรู้สึกเพราะเค้าก็อยู่ยุคเดียวกับเรา อันนี้เป็นจุดสำคัญเพราะบางทีการ์ตูนสนุกแต่ไม่ทำให้รู้สึกไปด้วย

คิดว่างานของตัวเองแตกต่างจากการ์ตูนคอมิคทั่วไปในยุคนั้นไหม
มันคงเขียนด้วยจุดประสงค์คนละแบบ การ์ตูนญี่ปุ่นมีตลาดมีระบบ เค้ารู้ว่าทำยังไงถึงจะขายได้ ทำตุ๊กตา ทำเกมออกมาได้ไหม ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าเรื่องต้องเป็นยังไง ตัวละครนิสัยยังไง แต่ของเราไม่คิดเรื่องแบบนั้น งานเรามาจากประโยคสั้นๆ ที่ค้นพบแล้วเอาประโยคนั้นมาขยายเป็นเรื่อง ใช้พื้นที่ 7-8 หน้าก็ได้ความ ทำตุ๊กตาก็ไม่ได้ ทำยาวกว่านี้ก็ไม่ได้ แล้วเราก็ขี้เกียจวาดด้วย วาดรูปก็ไม่สวย เขียนไปก็ไม่ได้เงินมากมาย จึงต้องทำงานอย่างอื่นไปด้วย ต้องรีบทำให้เสร็จ แป๊บหนึ่งประโยคใหม่ก็มาอีกแล้ว 
 

วัตถุดิบในการสร้างเรื่องแต่ละเรื่องมาจากไหน
กินข้าว ขึ้นรถไฟ พอได้เห็นคนหลายประเภทก็ได้เห็นหลายมุม มองมุมกว้างๆ ก็เกิดประโยคแล้ว สมมติไปดูงานศิลปะ ก็ไม่ได้ดูงาน ดูคนมากกว่าว่ามาทำอะไร ใครมาเจอกัน ส่วนใหญ่ไปดูหนังก็จะได้แรงบันดาลใจว่าถ้าทำตรงข้ามกับเค้าจะเป็นยังไง เราชอบสงสัย

การปั้นคาแรกเตอร์ขึ้นมาตัวหนึ่ง อย่าง มะม่วงเกิดจากอะไรบ้าง
เกิดจากว่าเราจะพูดอะไร แล้วมันจะมีรูปร่างของคนที่จะพูดถูกปั้นออกมา เช่น คิดเรื่องความรักผู้หญิงผู้ชายก็ต้องวาดผู้หญิงผู้ชาย “hesheit” ก็มาอย่างนั้น คนหนึ่งพูดตรงๆ แมนๆ อีกคนเป็นผู้หญิงก็จะคิดฉลาดหน่อย บางทีก็เปราะบางไป เลยสมดุลกัน พอสนทนากันก็กลายเป็นปรัชญา ส่วน “มะม่วง” อยากวาดตัวที่ไม่คิดอะไรเลย เดินไปยิ้มไป เป็นผู้หญิงแล้วกันจะได้นิ่มๆ ดี “มะม่วง” มักไม่ได้พูดอะไร ตอนนั้นเบื่อความคิดมากของตัวเอง เริ่มโตขึ้น เริ่มเข้าใจชีวิตว่าเป็นธรรมชาติ ความโง่ลงในชีวิตเราจริงๆ แล้วเป็นความโตขึ้น แต่สมัย “hesheit” จะมีความเป็นกบฏ ต่อต้านความคิดแบบนั้นแบบนี้ 

อยากให้การ์ตูนเปลี่ยนแปลงสังคมเลยไหม
อันนี้คือตอนเด็กๆ เราก็มีหลายยุค พอเขียนไปสักพักการ์ตูนเราจะเย็นลงเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว เปลี่ยนกันแค่ในเรื่องพอ หรือแอบคิดว่าถ้าคนอ่านอ่านแล้วได้คิดก็โอเค เราอยากเพิ่มมุมมองให้เค้า

สังเกตว่าลายเส้นยุคใหม่ที่วาดให้หนังสือญี่ปุ่นดูนุ่มขึ้นมาก 
เริ่มเป็นยุคทดลองแล้ว เรื่องที่อิสระที่สุดและสนุกที่สุดของเราคือ “hesheit” เขียนไปตามอารมณ์เลย พอเขียนไปเขียนมามันจบแล้ว เรารู้ว่ามันดีที่สุดแล้ว เลยลองทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรา ที่ใจเย็นลง เห็นคนเค้าวาดกันสวยๆ แล้วเราแจ๋วนักเหรอที่มานั่งเขี่ยๆ ทำอย่างเค้าบ้างได้ไหม ก็เลยลองรับงานตามสั่งว่าจะเป็นยังไง ให้ตัวเราเป็นร่างกาย อะไรผ่านมาก็ให้ผ่านไป

ผลการทดลองเป็นยังไงบ้าง
เหมือนเราทดลองใจมากกว่า พอใจกว้างก็ได้เห็นอะไรเยอะ ขี้เกียจจะไปรู้สึกแล้ว มันอีโก้เกินไป ศิลปะมีไว้เพื่อมองอะไรอีกมุมหนึ่ง ถ้ามองแต่อีโก้ตัวเอง จิตใจไม่เป็นอิสระ อาจจะรู้สึกแป๊บๆ แต่ไม่ต้องถือไว้นาน (ฟังดูไปทางธรรมะ?) เราว่างานเราเป็นมานานแต่มันเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าทางไหนมันก็มาถึงอันนี้หมด ไม่ว่าจะปลูกข้าว ขายอะไร เรื่องของจิตใจก็มีเท่านี้ แต่เราไม่ใช่คนไปวัดนะ

คิดว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงเปิดรับการ์ตูนของพี่ตั้ม ทั้งที่การ์ตูนของชาติตัวเองก็เยอะมาก 
การ์ตูนอยู่ในชีวิตคนญี่ปุ่น มีคนซื้อ มีคนทำ มีคนวาด มีหลายประเภทมาก เราเข้าไปง่ายกว่าตลาดเมืองไทยด้วยซ้ำ คิดว่าเนื้อเรื่องเราเดาไม่ออก และเรามีวิธีนำเสนอแปลกๆ ด้วยความที่ไม่มีชื่อเสียงเลยพยายามไปปรากฏตัวในอีเวนท์ทุกแบบ เลยถูกจัดอยู่ในพวก Sub Culture (วัฒนธรรมย่อย) ไม่ใช่การ์ตูน เค้าเล่นดนตรีแปลกๆ ให้เราไปร่วมด้วย เราก็ไปฉายหนังการ์ตูน ก็เพี้ยนดี แต่หลังๆ ก็บ่งชี้ได้ว่ากลุ่มแฟนที่มาดูเป็นกลุ่มไหน 

ในสายตาคนญี่ปุ่น การ์ตูนของพี่ตั้มมีความเป็นไทยไหม
ไม่เคยพูดถึงเลย เค้ามองที่เนื้อเรื่อง หลังๆ จะถูกมองเป็นงานศิลปะมากกว่า เราทำแอนิเมชั่นด้วย ฉายไปก็เอาเปียโนหรือกีตาร์ไปเล่นหน้าจอ หลังๆ ถึงได้งานเขียนการ์ตูนลงนิตยสาร การ์ตูนเล่ม ภาพประกอบนิตยสารแฟชั่น หรืออีกที่ให้เราไปปรึกษาปัญหาชีวิตซะงั้น เพราะเค้าคิดว่าการ์ตูนเรามีปรัชญาชีวิตที่ปลอบใจคนได้ เราก็ทำทุกอย่างที่มีโอกาส เหมือนเป็นกำแพงแล้วเซาะไปในรูเล็กๆ มีรูไหนก็เซาะไป ก็พอจะไหลๆ ไปได้

ขอถามย้อนไปว่าทำไมถึงเลือกไปเรียนที่ญี่ปุ่นคะ
แม่ไล่ให้ไปเรียนอะไรสักอย่างที่ไหนก็ได้ แต่ก่อนเราไม่อยากไป อยากรู้ว่าวาดการ์ตูนมันจะทำเป็นงานได้ไหม ก็ได้ลง “อะ เดย์” กับ “มังกะ แคช” อยู่ 5 ปี แม่ก็มาถามอีก เราเริ่มคิดได้ว่าไปทำตามความฝันตอนเด็กดีกว่า คือตอนเด็กๆ อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วอยากไปญี่ปุ่น ไปกินขนมแป้งทอด แม่บอกเออไปญี่ปุ่นมีระเบียบดี คนขยันขันแข็ง เราเรียนศิลปะแล้วตกก็ขอไปเรียนภาษาจะได้มีเวลาทำงานด้วย

จะแนะนำคนที่เริ่มวาดการ์ตูนว่าอะไรบ้าง
ถ้าจะทำเป็นอาชีพก็ให้ดูวัฒนธรรมที่เราอยู่ ไม่ใช่ดูแต่การ์ตูน การ์ตูนที่ดีควรเป็นแบบนี้ ยุคแรกที่การ์ตูนญี่ปุ่นประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบการ์ตูนรุ่นพี่ แต่เกิดจากว่าเค้ารู้สึกอะไรแล้ววาด บางคนอ่านการ์ตูนมาก จนอยากเขียนการ์ตูน แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร เพราะไม่มีเรื่องจะพูด ก็เลยไปหยิบเรื่องคนอื่นมาปรับเล่าต่อ แบบนั้นก็โอเค ตามสบาย แต่ถ้าให้เราแนะก็เริ่มจากตัวเองว่าเราคือใคร อยู่ที่ไหน คนรอบตัวเป็นแบบไหน มีตลาดแบบไหน

ในฐานะคนอ่าน การ์ตูนการ์ตูนให้อะไรกับเราบ้าง
เรานิสัยเปลี่ยนเพราะการ์ตูน แต่ก่อนใจร้อน อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วมันไม่ค่อยโกรธกัน เดี๋ยวมันก็ดีกัน ไม่เหมือน “ทอมแอนด์เจอรี่” ทะเลาะกันได้ทุกตอน แต่การ์ตูนญี่ปุ่นจะมีการพัฒนาจิตใจ สู้กันสักพักจะจับมือกันก่อนตาย หรือบางทีสู้กันแล้วไปเจอศัตรูตัวใหม่ เลยร่วมมือกันไปสู้ศัตรูตัวใหม่

มีตัวการ์ตูนที่ชอบไหมคะ
ชอบ “คิวทาโร่” น่ารักดี ชอบ “ลามู” เด็กผู้หญิงบินได้ ทำให้อยากวาดผู้หญิงบ้าง หน้าการ์ตูนรุ่นใหม่ๆ เราก็เหมือนนะ ไม่ได้ลอกแต่มันเหมือนเอง 

คำถามสุดท้าย จริงๆ แล้วพี่วาด “hesheit” ให้สวยได้ใช่ไหม 
เราเคยพยายามแล้วนะ แต่บางทีที่เราทำให้มันเพอร์เฟ็กต์เนี่ย เราจับได้ว่ามันบิดเบือนเนื้อความหมดเลย บางทีเนื้อหาอยู่ในวิธีวาด เช่น ความไม่สนใจ ความไม่พูด นี่แหละคือเนื้อหา ที่เราทำคือที่ดีที่สุดแล้ว

ที่มา : http://www.trueplookpanya.com


“เอคโค่ จิ๋วก้องโลก 3D” แอนิเมชั่นชั้นดี ที่คนไทยควรดู | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

หากใครที่กำลังคิดถึงหนังแอนิเมชั่นที่สร้างโดยคนไทย วันนี้ กันตนา แอนิเมชั่น สตูดิโอ ผู้สร้างแอนิเมชั่นขวัญใจเด็กๆก้านกล้วย และ ก้านกล้วย 2 กลับมาสร้างหนังแอนิเมชั่นสัญชาติไทยสุดยิ่งใหญ่อีกครั้งหลังจากห่างหายไปกว่า 3 ปี โดยทุ่มทุนสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 มิติเรื่องแรกของไทย “เอคโค่ จิ๋วก้องโลก 3D”

เอคโค่ จิ๋วก้องโลก 3D เล่าเรื่องราวของ จ่อเป เด็กชายตัวน้อยผู้มีความสามารถในการสื่อสารและพูดคุยกับธรรมชาติ และพี่สาวชาวกระเหรี่ยงคอยาว หน่อวา เด็กสาวผู้มีความรู้ด้านสมุนไพร และศิลปะการต่อสู้สไตล์กะเหรี่ยง เรื่องราวพาสองพี่น้องโคจรมาเจอกับ แซม ลูกชายประธานาธิบดีแห่งแคปิตอลสเตท เด็กน้อยผู้ชอบเอาแต่ใจที่เดินทางมาเข้าค่ายลูกเสือโลกที่ประเทศไทย มิตรภาพของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นหลังจากสองพี่น้องชาวเขาได้ช่วยเหลือ แซม หลังเกิดพลัดหลงเข้าไปในป่าหมอก เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวการรวมพลพิทักษ์โลกของ 3 สหาย

เอคโค่ จิ๋วก้องโลก 3D กำกับโดย คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้กำกับก้านกล้วยภาค1 เลือกหยิบประเด็นเรื่องราวใกล้ตัวมนุษย์อย่างปัญหาโลกร้อน มาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเป็นเรื่องราวภารกิจการผจญภัยกู้โลกของเหล่าตัวเอก ซึ่งกระแสช่วงแรกของ เอคโค่ จิ๋วก้องโลก 3D ไม่ค่อยดีนัก ทั้งจากตัวอย่างหนังที่ทำออกมาไม่ค่อยน่าสนใจและการประชาสัมพันธ์ที่ไม่มากเท่าที่ควร ทำให้มีหลายคนกำลังลังเลในการเลือกที่จะดูหนังเรื่องนี้ อีกทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีภาพยนตร์น่าสนใจหลายเรื่องให้คอหนังได้เลือกดูมากมาย

แต่พอมีโอกาสได้ชมแอนิเมชั่นสัญชาติไทยเรื่องนี้แล้วต้องขอชมเชยว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก ทั้งด้านการเล่าเรื่องที่ทำออกมาได้สมเหตุสมผลเข้าใจง่าย ไม่วกไปวนมา สามารถนั่งชมได้อย่างไหลลื่นตลอดเรื่อง การเลือกนำเสนอเรื่องราวของภาวะโลกร้อนก็ทำออกมาได้ในมุมมองที่น่าสนใจ รวมไปถึงช่วงท้ายเรื่องและฉากจบก็สร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี ช่วยทำให้เด็กๆเข้าใจปัญหาและความน่ากลัวของภาวะโลกร้อนได้ง่ายขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดและควรยกย่องคืองาน 3 มิติของแอนิเมชั่นเรื่องนี้มีคุณภาพมาก จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นผลงาน 3 มิติเรื่องแรกของผู้กำกับท่านนี้ ทั้งการวางมุมกล้องเพื่อนำเสนอภาพ 3 มิติ ที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม การแสดงสีหน้า อารมณ์ บุคลิกลักษณะของตัวละคร ทำออกมาได้จนเหมือนตัวละครเหล่านั้นมีชีวิตจริงๆ ทำให้คนดูสนุกที่จะลุ้นตามไปกับทุกการกระทำของตัวละคร แต่ต้องยอมรับว่าหนังมีเป้าหมายเน้นกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นหลัก ทำให้ผู้ใหญ่บางคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ชอบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ถ้ามองในภาพรวมทั้งหมดแล้ว เอคโค่ จิ๋วก้องโลก 3D เป็นแอนิเมชั่นที่สนุก ครบรส และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นของไทย ว่าสามารถแข่งขันกับแอนิเมชั่นของต่างประเทศได้อย่างไม่ต้องอายใคร ขอเพียงคนไทยเปิดใจเข้ามาชมและให้กำลังใจคนทำหนังให้มากขึ้นเท่านั้น ก้าวต่อไปของวงการแอนิเมชั่นไทยต้องไปไกลระดับโลกแน่นอน

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

ที่มา:  http://www.dailynews.co.th


‘นครินทร์ ศรีเลิศ’ จากนักข่าวสู่นักเขียนรางวัล ‘เรื่องสั้นอิศรา’ | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

โดย : ปริญญา ชาวสมุน

อาชีพ แต่ละอาชีพย่อมมีความแตกต่าง แม้บางอย่างจะคล้ายคลึงกันก็ตามที เหมือนนักข่าวและนักเขียนที่มีเพียงเส้นบางๆ คั่นกลางระหว่างสองอาชีพนี้ไว้

ทว่า แก่นแกนสำคัญของทั้งสองอาชีพคือ ‘การเขียน’

 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดเลย หากจะพบเห็นนักข่าวมาเป็นนักเขียนหรือนักเขียนมาเป็นนักข่าว เฉกเช่นเดียวกับ นครินทร์ ศรีเลิศ นัก ข่าวหนุ่มสายเศรษฐกิจ แห่งหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ แม้อายุงานของเขา ณ องค์กรสื่อแห่งนี้จะไม่มากมายนักเพียงปีครึ่งเท่านั้น แต่เมื่อครั้งร่ำเรียนเขียนอ่านที่มหาวิทยาศิลปากร เขาก็ไม่เคยห่างจากการเขียนหนังสือเลย มิหนำซ้ำยังมีผลงานตีพิมพ์อีกด้วย

“ช่วงที่เรียน มหาวิทยาลัยที่ศิลปากร เขียนหนังสือคู่กับเรียนหนังสือมาแทบจะตลอด อย่างไรก็ตามงานที่ได้ตีพิมพ์ก็มีไม่มากนัก มีนวนิยายเรื่อง เกลียวคลื่นกับผืนดิน เรื่องสั้น มหัศจรรย์วันวานย้อนตำนานอากง เด็กเก็บบอล ลานทรงพล  และเรื่องพญาอินทรีย์

  ย้อนไปเมื่อชั้นปีที่หนึ่ง นครินทร์ เริ่มสนใจและลงมือเขียนหนังสือ แม้จะเริ่มต้นไม่นานแต่เขาก็กล้าหาญชาญชัยส่งผลงานนิยายเข้าประกวดรางวัล Young Thai Artist Award ของมูลนิธิเครือซิเมนต์ไทย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และชิงทุนการศึกษา ผลคือ นิยายของเขาเข้ารอบ 10 เล่มสุดท้าย แต่ผลงานของเขากลับไม่ได้รับการเผยแพร่

 “มูลนิธิฯ เขาตีพิมพ์เรื่องที่เข้ารอบ 5 เรื่องแรกเท่านั้น เรื่องของผมก็เลยอดตีพิมพ์ แต่หลังจากนั้นก็ส่งเรื่องไปทุกปี เพื่อรับทุนการศึกษา มีปีสี่ที่ไม่ได้ส่งเพราะเรียนหนักมาก”

 ความพลาดหวังครั้งหนึ่งมิอาจกำหนดชะตาทั้งชีวิตฉันใด เส้นทางสายน้ำหมึกของนครินทร์ก็ยังคงดำเนินต่อฉันนั้น หลังจากได้เริ่มต้นเขียนหนังสือ เขาก็ติดอกติดใจรสแห่งวรรณกรรมอันกลมกล่อม ทยอยส่งผลงานให้ประจักษ์แก่สายตาประชากรบรรณพิภพอยู่เนืองๆ จนกระทั่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนชนแห่งประเทศไทย จัดประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้น “รางวัลอิศรา อมันตกุล” ขึ้น  เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนในวงการสื่อทุกแขนงที่สนใจเขียนงานวรรณกรรมนั่นแหละ จึงทำให้เรื่องสั้นสองเรื่องของ นครินทร์ ศรีเลิศ เข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้าย ได้แก่ ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ และ ‘แทบเล็ตของติ๋ม’ ซึ่งทำให้แววความสำเร็จด้านการเขียนเริ่มฉายชัดอีกครั้ง

  สำหรับการประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้น “รางวัลอิศรา อมันตกุล” นั้น จัดขึ้นในปี 2555 เป็นปีแรก  เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)  มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมคนในวงการสื่อสารมวลชนที่สนใจการเขียนวรรณกรรม โดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าการประกวดเรื่องสั้นรางวัลอิศราจะเพิ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ แต่ก็มีนักข่าวสายนักเขียนระดับยอดฝีมือร่วมชิงชังไม่น้อยเลย ชื่อบางคนคุ้นหูคุ้นตากันดีในบรรณพิภพ ชื่อบางคนก็ใหญ่โตพอจะทำให้ผู้ร่วมประกวดคนเล็กคนน้อยรู้สึกหวาดๆ กันบ้างก็มี

 แต่ในที่สุด ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ ของนครินทร์ก็ทะยานขึ้นแท่นคว้ารางวัลชนะเลิศจนได้ และด้วยค่าที่เรื่องสั้นของเขากรุ่นกลิ่นเทคโนโลยี ทั้งยังหยิบจับการทำงานของนักข่าวซึ่งเขารู้ซึ้งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมาเป็น จุดขายของเรื่อง เมื่อโลกเทคโนโลยีกับบรรณพิภพบรรจบกัน เรื่องสนุกๆ ในมุมมองของนักข่าวที่ต้องคลุกคลีตีโมงกับ ‘ทวิตเตอร์’ เพื่อชิงความได้เปรียบส่งข่าวแข่งกับสื่อโทรทัศน์และวิทยุ จึงเกิดขึ้น

 “จริงๆ ผมใช้ทวิตเตอร์มาประมาณหนึ่งปี ตามนโยบาย Mobile Journalist ขององค์กร ซึ่งพอจะเขียนเรื่องนี้ก็เริ่มศึกษาโปรแกรมทวิตเตอร์มากขึ้น เก็บข้อมูลสถิติต่างๆ ที่อาจเอามาย่อยเป็นองค์ประกอบของเรื่องสั้นได้ คำถามแรกที่ค้นหาก็คือ ผมอยากรู้ว่ามีคนไทยที่ใช้ทวิตเตอร์จำนวนเท่าไร ปริมาณข้อความที่เราทวีตกันประมาณวันละเท่าไร ซึ่งก็ต้องขอบคุณเว็บไซต์ Zocialrank ที่ได้สรุปสถิติเกี่ยวกับการทวีตบนเว็บไซต์ทวิตเตอร์ (Twitter) ของคนไทย ตลอดปี 2554 เอาไว้ พอเริ่มลงมือเขียนเวลาเราเขียนประโยคที่ตัวละครทวีตข้อความลงไป ผมก็ลองพิมพ์ข้อความลงในโปรแกรมจริงๆ นะ อย่างข้อความแรกที่บอกว่า ข้อความครบ 140 ตัวอักษรพอดี ก็ทดลองจนได้ตามนั้นจริงๆ เพราะเราต้องการแสดงเอกลักษณ์ของทวิตเตอร์ไว้ในข้อความนั้น ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับตรงนี้มากเป็นพิเศษ

 หลังจากเขียนเสร็จก็เป็นขั้นตอนของการขัดเกลาถ้อยคำ ให้สละสลวยขึ้น ซึ่งทำควบคู่ไปกับการเขียนเชิงอรรถอธิบายศัพท์บางคำ เช่น ฟอลโลว์เวอร์ หรือรีทวีต เพราะเราต้องคิดเผื่อด้วยว่าบางทีคนอ่าน (กรรมการ) อาจจะไม่ได้เล่นทวิตเตอร์จะได้เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร

 นอกจากได้ใช้ประโยชน์จากทวิตเตอร์เพื่อทำการงานแล้ว เขายังมองทวิตเตอร์เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถ่ายไปได้อีกหลายประเด็นความ

 “ผมมองทวิตเตอร์ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมนะ และเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ มีเวลาน้อยแต่ต้องการรู้ข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งด้านหนึ่งก็คือภาพสะท้อนของสังคมบริโภคนิยมนั่นเอง ที่สำคัญแม้จะมีคนใช้ทวิตเตอร์เป็นจำนวนมากแต่เท่าที่ทราบผมยังไม่เคยเห็น เรื่องสั้นที่เขียนเกี่ยวกับทวิตเตอร์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องท้าทายที่จะเขียนมันขึ้นมา”

 อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นจนโดดเด้งออกมาจากบรรดาเรื่องสั้นอื่นๆ คือชื่อเรื่อง แม้คำว่า ‘ทวิตภพ’ จะแพร่หลายในทวิตเตอร์มานานแล้ว แต่เมื่อพ้องกับชื่อเรื่อง ‘ทวิภพ’ ของนักเขียนระดับปรมาจารย์อย่าง ทมยันตี ย่อมน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ทว่า นครินทร์ตั้งใจให้ทวิตภพสื่อถึงโลกอีกดวงที่กำลังถูกให้ค่าเหนือโลกจริงซึ่ง มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่

 “คำว่า ‘ทวิตภพ’ เป็นคำที่ผมเห็นบางคนใช้ในการสื่อสารในทวิตเตอร์ บางคนตื่นขึ้นมายังไม่ได้ทักทายคนที่นอนอยู่ข้างๆ หรืออยู่บ้านเดียวกัน แต่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาทวีตข้อความ “อรุณสวัสดิ์ ชาวทวิตภพ” ไม่ได้ตั้งใจให้พ้องกับชื่อเรื่อง ‘ทวิภพ’ ของคุณทมยันตี แต่ความหมายที่ตั้งใจสื่อคือ ภพ ก็คือ ‘โลก’ นัยหนึ่งคือ โลกเสมือนจริง ซึ่งต่างจากโลกแห่งความจริงก็อยากให้คนอ่านตั้งคำถามว่าโลกที่เรารับรู้ผ่าน การใช้เทคโนโลยีบางทีอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมดก็ได้”

 เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องสั้น ‘แทบเล็ตของติ๋ม’ ที่ผ่านเข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้ายเช่นกัน ทั้งยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับเครื่องมือสื่อสารทันสมัยเหมือนกัน แต่นครินทร์ถ่ายทอดให้ทั้งสองเรื่องเดินกันคนละทางชัดเจน เขาตั้งใจให้ ‘แทบเล็ตของติ๋ม’ เล่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายและมาตรการรัฐซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น โดยมีตัวละครเป็นตัวแทนของคนอื่นในสังคม ส่วน ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ คือการหยิบยกเหตุการณ์และปัญหาหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาเขียนในเชิงตั้งคำถาม

 นครินทร์เล่าว่า ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ คือเครื่องมือสื่อสารที่เขาใช้ถ่ายทอดสู่คนอ่าน “เทคโนโลยีอาจสร้างนิสัยให้คนยึดติดกับเทคโนโลยีจนลืมตั้งคำถามว่าเรื่อง นั้นจริงหรือไม่จริงเพียงไร และแม้เทคโนโลยีจะช่วยให้คนในทุกมุมโลกเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ แต่ลึกๆ แล้วในความเป็นมนุษย์ องค์ประกอบที่สำคัญก็คือ ต้องการความรักความเข้าใจ ‘ผม’ ในเรื่องจึงคาดหวังว่าในที่สุดทวิตเตอร์จะพาไปพบกับผู้ที่จะเข้าใจและยอมรับ ในความเป็นตัวตนของเขา”

 ตัวละคร ‘ผม’ ในเรื่อง ถูกสมมติขึ้นตามวิธีการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง หากมองอย่างผิวเผินแล้ว ‘ผม’ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักข่าวที่ต้องใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางรับส่งข่าวสาร อีกทั้งยังใช้เพื่อหาบางสิ่งที่มนุษย์พึงปรารถนา อาจคล้ายว่า นครินทร์กำลังเล่าเรื่องส่วนตัวให้ส่วนรวมร่วมรับรู้ก็เป็นได้ แต่นครินทร์ก็ปฏิเสธว่า ‘ผม’ ไม่ใช่ ‘ผม’ เสียทั้งหมด แต่ก็มีหลายส่วนเป็นความรู้สึกที่ตกค้างมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการ เมือง

 “ผมเก็บเอาเรื่องราวที่ได้ฟังพี่ๆ นักข่าวการเมืองเล่าประสบการณ์ในการออกไปทำข่าวในช่วงที่มีการปะทะกัน ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐมาเขียน อีกส่วนหนึ่งที่เขียนเป็นในแง่ตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกันก็คือทุกวันนี้เรา เห็นผู้ชุมนุมเห็นม็อบบ่อยๆ พวกเรารู้สึกอย่างไร มีใครตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของพวกเขาบ้างหรือเปล่า ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราตั้งคำถามให้ลึกไปกว่าว่า “ไอ้พวกนี้ถูกจ้างมา” ผมเชื่อว่าปัญหาในสังคมจะถูกแก้ไขมากขึ้น”

 นอกจากนี้นครินทร์ยังเล่าต่อว่า เรื่องสั้น ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ ไม่ได้สื่อสารกับคนอ่านเพียงประเด็นเดิมๆ นี้ ประเด็นเดียว เขาต้องการฉายภาพการรายงานข่าวที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี รวมทั้งพฤติกรรมในการรับรู้ข่าวสารที่เปลี่ยนไป เขาต้องการบอกเล่าการทำงานของสื่อมวลชนในสถานการณ์ขัดแย้ง เขาอยากสะท้อนความขัดแย้งในสังคมไทยที่ชนวนมาจากปมปัญหาทางการเมือง และเขาอยากกล่าวถึงการแสวงหาความรักและการยอมรับอันเป็นความคิดพื้นฐานของ มนุษย์

 นอกจากนครินทร์จะเป็นนักข่าวนักเขียนมือดีแล้ว วัตถุดิบต่างๆ รวมทั้งลีลาภาษาย่อมได้มาจากการอ่านทั้งสิ้น เขาคือนักอ่านตัวยง อ่านหลากหลาย โดยเฉพาะนิยายแปล แนวสืบสวนสอบสวน การผูกเงื่อนปม ดำเนินเรื่อง กระทั่งคลี่คลาย จึงค่อนข้างสละสลวย ขณะที่เขากำลังรังสรรค์ ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ หนังสือ ‘เส้นสมมติ’ ของ วินทร์ เลียววาริณ ซึ่งเป็นแรงขับหนึ่งในผลงานเรื่องสั้นระดับรางวัลของเขา

 “หนังสือเรื่อง เส้นสมมติ มีอิทธิพลต่อเรื่อง ทวิตภพฯ หรือไม่ คงมีผลบ้างเนื่องจากหนังสือเรื่องนี้เขียนเรื่องความสัมพันธ์ของคนในรูปแบบ ต่างๆ แต่เรื่องสั้นที่เขียนขึ้นมาแต่ละเรื่องคงไม่ได้มีแรงขับจากหนังสือเล่มใด เล่มหนึ่งโดยเฉพาะแต่เป็นส่วนผสมของประสบการณ์หลายๆ อย่าง ทั้งประสบการณ์ชีวิต และประสบการณ์ที่เคยอ่านหนังสือสะสมมา”

 เรื่องสมมติจึงไม่สมมติอีกต่อไป เขาส่งงานเข้าประกวดทั้งๆ ที่ไม่ได้เขียนมานานนับปี ทั้งยังเกือบส่งงานไม่ทันเพราะกว่าจะส่งไปรษณีย์ก็เกือบปิดแล้วในวันสุดท้าย กำหนดส่งผลงาน แม้ต้นทางของงานจะทุลักทุเลอยู่บ้าง แต่เรื่องสั้นของเขาก็ไปถึงมือคณะกรรมการจนได้ ที่สำคัญเข้าตากรรมการอีกด้วย…’ทวิตภพ ทวิตพบ’ ได้รางวัลชนะเลิศ

 “ผมรู้สึกดีใจระคนแปลกใจ จริงๆ รู้สึกดีใจตั้งแต่ตอนที่เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องเข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้าย พอไปถึงที่งานประกาศรางวัลเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอกอะไร แต่เราเห็นเรื่องสั้นของเราได้รางวัลที่ 1 ก็รู้สึกภูมิใจ ตื่นเต้นและเคอะเขินเล็กน้อยตอนที่ต้องขึ้นไปรับรางวัล”

 ไม่ว่าสิ่งใดจะเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความสำเร็จ รางวัลคือหนึ่งในสิ่งอันทรงเกียรตินั้น สำหรับนครินทร์ก็เฉกเช่นกัน…

 “รางวัลเรื่องสั้นอิศราถือเป็นความสำเร็จที่น่ายินดีอย่างหนึ่ง แต่ในฐานะคนเขียนหนังสือทุกเรื่องที่เขียนเสร็จได้อย่างที่ตั้งใจ ทุกเรื่องที่มีคนอ่านแล้วชอบ หรือไม่ชอบแต่มีคำติชมที่เป็นประโยชน์ถือเป็นความสำเร็จเช่นกัน”

 อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนักข่าวและนักเขียนคล้ายคลึงกันมาก มีเพียงเส้นบางๆ คั่นกลางไว้ แล้ว ‘เส้นบางๆ’ ที่ว่าคืออะไร ในฐานะที่นครินทร์ได้ลอดผ่านเส้นดังกล่าวโดยสมบูรณ์แล้ว ทั้งข่าวและวรรณกรรมเขา “เอาอยู่ !”

 “ผมคิดว่างานวรรณกรรมกับงานข่าวเป็นการเล่าเรื่องเหมือนกัน แต่งานวรรณกรรมหรืองานเขียนเราเล่าเรื่องแต่ง อาจเป็นเรื่องแต่งที่อิงจากเรื่องจริงผสมกับจินตนาการ ขณะที่งานข่าวเราต้องเล่าเรื่องจริงทั้งหมดจะเอาเรื่องแต่งมาอิงด้วยไม่ได้ ถามว่าชอบงานแบบไหนมากกว่าคงตอบว่าชอบทั้ง 2 อย่างเท่าๆ กัน ส่วนจะถนัดอย่างไหนมากกว่ากันต้องตอบว่าความถนัดเปลี่ยนไปตามระยะเวลา ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเราถนัดเขียนเรื่องสั้นมากกว่า แต่ปัจจุบันก็คิดว่าถนัดเขียนข่าวมากกว่าเพราะข่าวเราต้องเขียนแทบทุกวัน อย่างไรก็ตามทั้งข่าวและเรื่องสั้นผมคิดว่าตัวเองยังพัฒนาได้ ไม่ใช่ว่าวันนี้บอกว่าถนัดเขียนข่าวแล้วจะหยุดฝึกเขียนข่าว ขณะเดียวกันเรื่องสั้นก็ต้องพัฒนาการเขียนไปได้เรื่อยๆ เพราะจริงๆ แล้วเรื่องสั้นมีวิธีการนำเสนอที่หลากหลายมาก”

 เขายกตัวอย่างสิ่งที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พูดไว้อย่างน่าประทับใจว่า “ในอดีตนักข่าว และนักเขียนเป็นคนคนเดียวกัน” ซึ่งเขาก็เชื่อว่านักข่าวเป็นนักเขียนที่ดีได้ เพราะอาชีพนักข่าวเปิดโอกาสให้ได้รับรู้ข้อมูลมากดังนั้นจึงมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากมีวัตถุดิบให้เลือกมาเขียนได้มากมาย

 ความสำเร็จของ นครินทร์ ศรีเลิศ ในวันนี้เป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวของเขา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกหลายคนที่อยากเดินตามรอย บางคนอาจเริ่มเขียน บางคนอาจยังเคอะเขินไม่กล้าเขียน แต่เจ้าของรางวัลเรื่องสั้นอิศราคนนี้เชื่อมาตลอด คือ ถ้าอยากเขียนต้องเริ่มเขียน หยุดเป็นนักคิดแล้วเปลี่ยนเป็นนักปฏิบัติ

 “การเขียนหนังสือเป็นการทำงานที่ช่วยให้เราเปลี่ยนจากนักคิดมาเป็น นักปฏิบัติ ดังนั้นใครที่อยากเขียนหนังสือ ต้องเลิกพูดว่าจะเขียน หรือว่าจะเขียน แต่ต้องลงมือเขียน ที่สำคัญนอกจากฝึกเขียนเราต้องฝึกคิดควบคู่กันไปด้วย เพราะยิ่งคิดได้ตกผลึกเท่าไรสิ่งที่เราเขียนก็จะชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น”

 และแล้วสิ่งที่ตกผลึกในสมองของเขาก็ผ่านกระบวนการ ‘เขียน’ กลายเป็นเรื่องสั้นคุณภาพ ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ ประจักษ์แก่สายตาคนอ่านและผงาดอย่างงามสง่าบนเวทีวรรณกรรมอีกด้วย

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com  ( http://bit.ly/LKdYio )


“พาไรโดเลียรำลึก” เหนือจินตนาการ | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

โดย : จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

พา ไรโดเลีย คือการมองสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง/รูปทรงแน่นอนให้เป็นบางสิ่งที่มีลักษณะชัดเจน เช่น มองก้อนเมฆเป็นรูปสัตว์หรือสิ่งของต่างๆ

พาไรโดเลียรำลึก
เขียน : ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น ราคา 135 บาท, 98 หน้า

………………………………………………………….

“…มันเป็นปฏิกิริยาทางจิตที่สร้างภาพคุ้นตาขึ้นจากภาพที่เป็นนามธรรม…” (หน้า 22)

นี่คือคำจำกัดความของ ‘พาไรโดเลีย’ ที่วิกเตอร์ หนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่นอเมริกัน ให้กับเด็กสาวชาวไทยซึ่งติดตามพ่อไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ก่อนที่จะได้พบกับวิกเตอร์ แล้วก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกกันว่าความรัก

หากคำจำกัดความนี้ยังยากเกินไป ก็อธิบายให้ง่ายขึ้นได้ว่า ‘พาไรโดเลีย’ ก็คือการมองสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง/รูปทรงแน่นอนให้เป็นบางสิ่งที่มีลักษณะ ชัดเจน เช่น มองก้อนเมฆเป็นรูปสัตว์หรือสิ่งของต่างๆ, มองของเล่นที่ลูกวางไว้เกลื่อนกลาดเป็นตัวอักษรข้อความ, มองรอยคราบบนฝาผนังเป็นภาพพระพุทธเจ้า เป็นต้น

หลังจากที่เด็กสาวได้รู้เกี่ยวกับพาไรโดเลีย เธอก็กลายเป็นเหมือนกับวิกเตอร์ ที่มีความสุขกับการมองหาภาพในสิ่งต่างๆ อยู่ทุกเวลานาที ทันทีที่เห็นเป็นภาพ เธอจะชี้ชวนให้วิกเตอร์ดู และวาดภาพนั้นบันทึกไว้ในสมุดสเก็ตช์ของเขา ในไม่ช้า ทั้งพาไรโดเลีย และวิกเตอร์ ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ

“…ฉันจะสอดส่ายสายตามองหาอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่อะไรเลยสักอย่างอยู่เสมอ…” (หน้า 23) 

วิกเตอร์และพาไรโดเลีย ได้เข้ามาเติมเต็มชีวิตที่ว่างเปล่าของเด็กสาวคนหนึ่งให้กลับมีความหมายขึ้น มา ดูเหมือนว่านี่เป็นสิ่งที่เธอรอคอยมาทั้งชีวิต เฝ้ามองโดยหวังจะเห็นการปรากฏของมัน เมื่อได้เห็น เธอจึงกระโจนเข้าใส่โดยไม่รั้งรอ

 ‘พาไรโดเลีย’ ที่ ปราบดา หยุ่น นำ มาใช้ในเรื่องสั้นขนาดยาว “พาราโดเลียรำลึก” เรื่องนี้ ได้สะท้อนด้านลึกของตัวละครออกมาได้อย่างแจ่มชัด ที่ผ่านมา ชีวิตของเด็กสาวเป็นเหมือนสิ่งที่ล่องลอยไปมา ไร้ความหมาย ไม่มีภาพที่แจ่มชัด และไม่อาจเข้าใจเหตุผลของการดำรงอยู่ พาราโดเลียและวิกเตอร์ได้เข้ามาเปลี่ยน ให้เธอเห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น เป็นภาพของเด็กสาวที่มีเสน่ห์ มีความรัก และมีความสุข

แต่ภาพที่มองเห็นกับความเป็นจริง ใช่ว่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนก้อนเมฆที่ก่อตัวคล้ายรูปของสิ่งต่างๆ ในไม่ช้ามันก็ผันแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปอื่นๆ

ไม่แต่การมองตัวเองเท่านั้น การเข้ามาของวิกเตอร์ก็มีลักษณะเดียวกัน แรกเริ่มเธอคิดว่าเห็นภาพเขาอย่างแจ่มชัด แต่หลังจากนั้น ภาพชายหนุ่มที่มองเห็นก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จนในท้ายที่สุด เขาก็ดูเหมือนไม่ใช่คนที่เธอเคยรู้จัก หรือจะพูดให้ถูกไปกว่านั้น เธออาจไม่เคยรู้จักเขาเลยจริงๆ เลยก็ได้

หากมองในแง่นี้ ‘พาไรโดเลีย’ ก็ไม่ได้เป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อเงยหน้ามองท้องฟ้า มองรอยเลอะเปรอะเปื้อนของสิ่งต่างๆ หรือมองไปที่ข้าวของที่วางระเกะระกะเท่านั้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา ล้วนมี ‘พาไรโดเลีย’ เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ทั้งนี้ก็เพราะ  “…คนเรามักต้องการเข้าใจมากกว่าไม่เข้าใจ ต้องการสร้างเรื่องราวขึ้นจากสิ่งที่ไม่มีเรื่องราว หาความหมายในสิ่งที่ไม่มีความหมาย…” (หน้า 22) สิ่งต่างๆ ที่เราพบเจอในชีวิต จะถูกผนวกด้วยจินตนาการเข้าไป เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นชัดเจนขึ้น มีความหมายบางอย่าง และสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน

น่าสนใจว่า ขณะที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละคร ปราบดา หยุ่น ก็ เล่นล้อกับผู้อ่านไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะหากมองกันกว้างๆ การอ่านก็เป็น ‘พาไรโดเลีย’ แบบหนึ่ง คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะอ่านอะไรก็ตาม จะพยายามหาทางเข้าใจเรื่องราวที่นักเขียนบอกเล่า พร้อมหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในนั้นอยู่เสมอ หากไม่เข้าใจและไม่เห็นความหมายใดๆ ก็จะประเมินว่า นี่เป็นงานเขียนที่ไม่ดี อ่านไม่รู้เรื่อง และไม่ให้ความหมายที่ลึกซึ้ง

ปราบดา หยุ่น วาง โครงสร้างเรื่อง “พาราโดเลียรำลึก” ไว้เช่นเดียวกับตัวละครวิกเตอร์ นั่นก็คือเป็นสิ่งที่ดูเหมือนมีรูปร่างแน่นอนตายตัว วิกเตอร์เป็นหนุ่มลูกครึ่งหล่อเหลา สุภาพ นุ่มนวล เปี่ยมจินตนาการ พร้อมด้วยความสามารถทางศิลปะ เขาคือผู้ชายที่เกิดมาเพื่อเป็นพระเอกในนวนิยายอย่างแท้จริง ตัวละครแบบนี้แหละที่ผู้อ่านจะหลงรักได้ง่ายๆ ขณะเดียวกัน เรื่องราวก็มีโครงสร้างแบบเรื่องรักโรแมนติก หนุ่มเหงา สาวเปลี่ยว มาเจอกัน ณ เมืองอันห่างไกล ที่ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย ทว่าเขาและเธอกลับรู้สึกเหมือนไม่มีใคร จนกระทั่งได้มาเจอกัน นี่คือโครงสร้างเรื่องในแบบที่เราคุ้นเคย เข้าใจได้ง่าย และรู้สึกว่ามีความหมาย

แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ความคุ้นเคยนี้ก็เริ่มเคลื่อนคลาย ก่อเกิดเป็นความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพระเอกวิกเตอร์และโครงสร้างเรื่องความรัก สุดท้ายเรื่องราวก็พลิกผันกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ตัวละครและโครงสร้างเรื่องไม่เป็นแบบที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป

ณ จุดนี้ ตัวละครเด็กสาวกับผู้อ่านถูกวางไว้ตรงตำแหน่งเดียวกัน เด็กสาวคิดว่าวิกเตอร์และพาไรโดเลียคือสิ่งที่สร้างความหมายให้กับชีวิตเธอ ในขณะเดียวกัน เรื่องราวความรักอันน่าประทับใจของเขาและเธอ ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมายสำหรับผู้อ่านเช่นกัน

อาจบอกได้ว่า นี่คือเรื่องราวความรักของเด็กสาวผู้อ่อนประสบการณ์และเต็มไปด้วยความฟุ้ง ฝัน เรื่องเริ่มต้นเหมือนในนิยายรักทั้งหลาย มันทำให้ทั้งตัวละครเด็กสาวและผู้อ่านหลงคิดไปว่า เรื่องราวต้องเป็นไปตามแบบฉบับที่เคยประทับใจ แต่ที่แท้มันกลับไม่ใช่เลย

ในความเป็นจริง ไม่ว่าใครจะมองก้อนเมฆเป็นรูปอะไร เมฆก็ยังคงเป็นแค่เมฆ เช่นเดียวกับคนแต่ละคน ไม่ว่าใครจะมองใครอย่างไร เป็นพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวตลก ตัวประกอบ หรืออื่นๆ ก็ไม่มีใครเป็นเช่นนั้นตามที่คนอื่นมองเห็น เขายังคงเป็นเขาในแบบของเขา

ไม่มีอะไรที่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว ใครจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ หรือมันจะมีความหมายใดๆ หรือเปล่า นั่นไม่ใช่ปัญหาของสิ่งที่ถูกมอง แต่เป็นปัญหาของผู้ที่มองต่างหาก หากมองด้วยดวงตาที่อ่อนต่อโลก เราจะมองไม่เห็นความจริง แต่จะเห็นแค่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาจากความจริงนั้น

ผมชอบตอนจบของเรื่องที่เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เด็กสาวได้รับ ไม่ทำให้เธอทุกข์ร้อนฟูมฟาย ในทางกลับกัน เธอกลับยอมรับมันอย่างเข้มแข็ง จากเด็กที่ไม่ประสีประสา บัดนี้เธอเข้าใจแล้วว่า สิ่งต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่เธอคิดว่ามันควรจะเป็น

“…ในวัยสิบเจ็ดย่างสิบแปดฉันได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่ไม่คาดว่าจะได้รู้คือพ่อของฉันก็ชอบดูหนังโป๊กับเขาด้วย…” (หน้า 91)

พ่อที่ไม่ใช่พ่อตามแบบฉบับ ก็เป็นเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตเด็กสาว ที่ล้วนพลิกเปลี่ยนไปจากเมื่อแรกเริ่ม มันไม่ชวนฝันเหมือนนิยายรักทั้งหลาย แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินกว่าจะรับ

จงอยู่กับความจริงอย่างที่มันเป็นจริงๆ เพราะบางทีจินตนาการต่างหาก ที่ทำร้ายเรามานักต่อนัก ด้วยความหลงผิดคิดว่า อะไรเป็นอะไร ทั้งที่มันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด

ไม่เฉพาะแต่ตัวละครในเรื่องนี้และโครงสร้างของเรื่องนี้เท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกตัวละคร และทุกเรื่องราวในสังคม

(หมายเหตุ : ในที่สุดผมก็อดที่จะทำความเข้าใจและหาความหมายจากหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ นี่อาจเป็นการทำงานด้วยปฏิกิริยา ‘พาไรโดเลีย’ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง บางทีสิ่งที่ ปราบดา หยุ่น เขียนอาจเป็นแค่เรื่องเรื่องหนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจให้ความหมายแบบที่ผมเขียนมานี้เลยก็ได้)

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com  ( http://bit.ly/Is9BqL )


การ์ตูนรำลึกอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง | อาร์ตแกลอรี่ | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก เป็นตัวแทนรวบรวมผลงานการ์ตูน จากนักการ์ตูนที่เคารพรัก และชื่นชมผลงานอาจารย์ปยุต ร่วมวาดการ์ตูนเพื่อไว้อาลัยการจากไป ของอาจารย์ และได้มอบภาพเขียนเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ครอบครัวของอาจารย์ต่อไปค่ะ

หากท่านใดที่ประสงค์จะวาดรูปและนำมาลง ณ gallery รวมภาพชุดนี้ สามารถ สมัครสมาชิก และส่งรูปมาให้แอดมินได้เลยค่ะ
ที่ cartoonthai_ffc [at] hotmail.com

ทางแอดมินจะได้ทำการ นำภาพของทุก ๆ ท่าน ที่ส่งมา ร่วมโชว์ในแกลอรี่นี้ด้วยกันค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ