nature day ร่วมอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่กับโลกใบนี้ – infographic | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

คําขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก 2557 : ยกระดับความคิด แก้วิกฤตน้ำท่วมโลก (Raise you voice not the sea level)


Graphic by Aum : https://www.facebook.com/WTHollowerZ


วิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมช่วยลดภาวะโลกร้อน – infographic | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

คําขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก 2557 : ยกระดับความคิด แก้วิกฤตน้ำท่วมโลก (Raise you voice not the sea level)

Graphic by Bank : https://www.facebook.com/pages/Keygen-PD/282811651779544


วิธีลดโลกร้อน – infographic | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

คําขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก 2557 : ยกระดับความคิด แก้วิกฤตน้ำท่วมโลก (Raise you voice not the sea level)

graphic by Bua : https://www.facebook.com/buabee.art


ผลงานที่ส่งเข้าประกวด กรรมสิทธิ์ในชิ้นงานเป็นของใคร ? | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก


            มีนักการ์ตูนได้สอบถามเข้ามาที่สถาบันฯหลายท่าน เรื่องการส่งผลงานเข้าประกวด และในกติกาของการแข่งขันระบุว่า “ผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดในกิจกรรมครั้งนี้จะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท…(ที่จัดกิจกรรม) เท่านั้น” นักเขียนจึงอยากทราบว่า ข้อความนี้ มีผลเฉพาะผลงานที่เข้าร่วมประกวดและได้รางวัล หรือว่าผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวด ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัททั้งหมด ในกรณีที่ส่งผลงานประกวดส่วนใหญ่แล้วหากผลงานได้รับรางวัล ผลงานจะเป็นของบริษัทกี่ปี เป็นเหมือนกับการซื้อ วรรณกรรมหรือซื้อขาดภาพ และงานที่ไม่ได้รางวัลนั้นยึดถือกติกาเหมือนกันหรือไม่ หรือว่าเป็นสิทธิของผู้สร้างสรรค์เพราะไม่ได้รางวัล

สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก จึงได้สอบถามไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา และได้คำตอบมาดังนี้


คำตอบ


กรรมสิทธิ์หมายถึง สิทธิทั้งปวงที่ผู้เป็นเจ้าของมีอยู่เหนือทรัพย์สิน อันได้แก่ สิทธิใช้สอย จําหน่าย ได้ดอกผล กับทั้งสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน และสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

ลิขสิทธิ์หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ที่จะกระทำการใด ๆ กับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นตามประเภทลิขสิทธิ์ที่กฎหมายคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ 9 ประเภท ได้แก่ งานวรรณกรรม (หนังสือ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ โปรแกรมคอมพิวเตอร์) นาฏกรรม (การรำ การเต้น การทำท่าทาง)  ศิลปกรรม (รูปภาพ รูปสลัก รูปถ่าย)  ดนตรีกรรม (เนื้อร้อง ทำนองเพลง การเรียบเรียงเสียงประสาน) โสตทัศน์วัสดุ (ซีดี ดีวีดี) ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง (เทปทึกเสียง วีซีดี) งานแพร่เสียงแพร่ภาพ (วิทยุ/โทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ) หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ
 
ตัวการ์ตูนเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์ โดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแต่อย่างใด และพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในการ ทำซ้ำ (เช่นสำเนา คัดลอกทั้งหมดหรือบางส่วน)
ดัดแปลง (ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจากงานเดิม วาดเพิ่มเติม) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (ทำให้ปรากฏต่อประชาชนเช่นโดยการแสดง การจำหน่าย) ให้เช่า โอน อนุญาตให้ผู้อื่นใช้งาน อันมีลิขสิทธิ์ ฯลฯ  ดังนั้น การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

จากกรณีคำถาม การระบุข้อความ “ผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดในกิจกรรมครั้งนี้จะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท…(ที่จัดกิจกรรม) เท่านั้น”คำว่ากรรมสิทธิ์ที่ได้ระบุบในข้อความดังกล่าวหมายถึง
ผลงานหรือสิ่งที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด (หากวาดภาพลงบนกระดาษก็จะหมายถึงรูปการ์ตูนบนกระดาษแผ่นที่ส่งเข้าประกวดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จัดการประกวด) แต่มิได้หมายความรวมถึงลิขสิทธิ์ในตัวการ์ตูนซึ่งเป็นลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ และผู้จัดการประกวดไม่สามารถนำตัวการ์ตูนดังกล่าวไปจัดตีพิมพ์หรือเผยแพร่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานดังกล่าว
 
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวแล้วผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จัดการประกวด แต่ลิขสิทธิ์ในผลงานที่ได้ส่งเข้าประกวด (สิทธิในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน) ยังคงเป็นของผู้สร้างสรรค์  ทั้งภาพที่ได้รับรางวัลและภาพที่ไม่รับรางวัล ทั้งนี้
ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดหากจะมีการตกลงเพื่อซื้อขายหรือโอนลิขสิทธิ์ก็ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย 
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโดยตรงได้ที่สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร  0-2547-4633  


หวังว่าจะสามารถตอบคำถามของนักการ์ตูนหลายท่านที่สงสัย

และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจนะคะ

สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๖


ของขวัญวันเด็ก หยอย – ศศิ วีระเศรษฐกุล | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

 ของขวัญวันเด็ก หยอย – ศศิ วีระเศรษฐกุล

 ART EYE VIEW—หยอย – ศศิ วีระเศรษฐกุล เจ้าของผลงานหนังสือภาพหลายเล่ม และเพจ “การเดินทางของพระจันทร์” ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น
       
       มี “ของขวัญปีใหม่และวันเด็ก” ให้กับแฟนเพจของเขา เป็นภาพวาดสีน้ำภาพนี้ เพื่อแทนคำอวยพรให้เป็น “ปีและวันที่สดใส” สำหรับผู้ใหญ่และเด็กๆทุกคนที่ชื่นชอบผลงานของเขา
       
       นักวาดภาพประกอบ ผู้ที่พ่อแม่ตั้งชื่อให้ดูคล้ายผู้หญิง เพื่อข่มความดื้อของเขาเมื่อครั้งเป็น “เด็กชาย” บอกไอเดียในการเขียนภาพนี้ว่า
       
       “เวลาที่ไปเดินตามห้างสรรพสินค้าในช่วงปีใหม่ ผมชอบในบรรยากาศที่ครอบครัวจูงลูกจูงหลานมาเที่ยว ก็เลยเอาไอเดียตรงนั้นมาเขียนภาพๆนี้ เพราะอยากจะให้ทุกคนมีความสุขเหมือนเมื่อตอนเป็นเด็ก ที่ได้ไปเที่ยว ไปอะไร และอยากให้ปีนี้เป็นปีที่สดใสสำหรับทุกคนไปตลอดทั้งปี”

  แฟนเพจในโลกออนไลน์อาจแปลกใจ ที่ในช่วงส่งท้ายปีเก่าที่ผ่านมา เพจโชว์ผลงานภาพสีน้ำของเขาจะไร้การอัพเดท เหตุเพราะหยอยไปทำหน้าที่เจ้าบ่าวให้กับหญิงสาวคนรักซึ่งมีอาชีพเป็นเภสัชกรอยู่ที่เมืองย่าโม
       
       และขณะนี้เขาได้กลับมาทำงานหลายอย่างที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปด้วยในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะงานในฐานะ สถาปนิกอิสระ ตามที่ร่ำเรียนจบมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ครูสอนวาดภาพสีน้ำแห่ง “วาด สตูดิโอ” ,นักวาดภาพประกอบ และดูแลเพจบน facebook ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แม้เขาจะมองว่าเป็นเพียงงานอดิเรก และเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เขาได้สื่อสารกับแฟนผลงาน

   >>>เรื่องราวน่ารัก ภาพสีน้ำสบายตา
       
       สมัยเรียนอยู่ปี 3 หยอยคืออดีตเจ้าของรางวัลชนะเลิศการออกแบบที่อยู่อาศัยให้กับคนชรา ซึ่งจัดโดย สหประชาชาติ และมีนักศึกษาด้านสถาปัตย์จากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวด
       
       เริ่มทำงานแรกหลังจากที่เรียนจบที่ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด,มีผลงานภาพประกอบปราฎครั้งแรกในนิตยสารa day ต่อเนื่องไปถึงการภาพประกอบให้ สำนักพิมพ์ลายเส้น,สำนัก booktopia และมูลนิธิเด็ก แต่ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักเป็นมากในช่วงเวลาที่ Something Sometime Somewhere Everyday หนังสือภาพเล่มที่ 3 ที่เขาทำร่วมกับ สำนักพิมพ์ full stop คลอดออกมา
       
       และเหตุที่ผลงานของเขาเป็นที่ประทับใจผู้คน แฟนผลงานของเขาสะท้อนว่า นำเสนอเรื่องราวได้น่ารัก ด้วยภาพสีน้ำที่ดูแล้วสบายตา 
       
       “ผมชอบสีน้ำ และส่วนใหญ่จะทำงานที่เขียนด้วยมือให้จบเลยครับ คนอื่นเขาอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โฟโต้ชอป หรือใช้อย่างอื่นในการลงสี 
       
       ชอบสีน้ำ เพราะว่าเราชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น สมัยก่อน การ์ตูนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จะใช้สองเทคนิคในการวาด คือ สีโปสเตอร์ กับสีน้ำ แต่สีโปสเตอร์ผมลองแล้วไม่ค่อยชอบ เลยมาจบที่สีน้ำ ฝึกเรื่อยมา
       
       และอีกอย่างที่ทำให้ชอบสีน้ำ เพราะตอนเรียนต้องใช้ ด้วย เป็นเหมือนกับสีจำเพาะที่ต้องมาลง ตอนพรีเซ้นต์แบบ
       
       ผมพยายามเลือกใช้โทนสีที่ดูแล้วสบายๆ สื่อถึงความน่ารัก และใช้เทคนิคเรียบง่าย ไม่ใช้เทคนิคเยอะ”

   >>> นักวาดภาพประกอบ ชอบจดบันทึก
       
       เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพและประโยคสั้นๆมีเคียงมาพร้อมกับภาพวาดสีน้ำ ส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก นิสัยที่ชอบจดบันทึก
       
       “ผมเริ่มมาจาก การเป็นคนที่ชอบจดไดอารี่ เพื่อบันทึกว่าแต่ละวันไปเจออะไรมาบ้าง เริ่มมาจากการเขียนเพื่อเตือนตัวเอง เวลามีความทุกข์ เวลาเจอปัญหา ก็พยายามเขียนเตือนตัวเองว่า มันยังมีเรื่องที่ดีอยู่ เริ่มมาจากตรงนั้นก่อน ทีนี้ก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ เอาเรื่องนู้นเรื่องนี้มาประกอบกัน เรื่องที่เห็น กับเรื่องในความคิดของเรา”
       
       ดังนั้น อุปกรณ์เขียนสีน้ำ,สมุดเขียนสีน้ำ และสมุดจดบันทึก จึงกลายเป็นสิ่งที่เขาต้องพกติดตัว ในเวลาที่เดินทางไปไหนต่อไหนเสมอ 
       
       “ถ้าเกิดไม่ใช่งาน ก็จะเขียนได้ทุกที่ แต่ถ้ามันงานที่ต้องทำเป็นหนังสือ อันนี้ต้องการที่เงียบๆครับ เพราะว่าเวลาไปเที่ยวไปอะไร ผมก็จะสเก็ตซ์อยู่แล้ว ตามร้านกาแฟ ตามอะไรอย่างนี้ครับ บางทีเห็นที่สวยๆ ผมก็นั่งเขียน”

     >>>ปีใหม่ และเป้าหมาย
       
       ปีนี้หยอยยังวางแผนให้กับงานในแต่ละด้านไว้ว่า งานสถาปนิกเน้นทำตามกำลัง และงานในฐานะครูสอนวาดรูป เปรียบกับการเล่นฟุตบอล ตำแหน่งของเขาเป็นเพียงผู้ร่วมเตะ 
       
       “ เหมือนผมไม่ได้เป็นโค้ช แต่ผมคือผู้ร่วมเตะไปกับนักเรียน แต่ว่าอยู่คนละตำแหน่งเท่านั้นเอง”
       
       งานหนังสือภาพเขาตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าต้องมีตีพิมพ์อย่างน้อยปีละ 1 เล่ม 
       
       “พยามสร้างวินัยให้ตัวเอง ก็เหมือนกับทุกคน ที่พอถึงปีใหม่ จะตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง เช่น ปีนี้ฉันไปเที่ยวต่างประเทศ ฉันจะมีรถซักคัน ผมก็พยายามตั้งแบบนี้เหมือนกัน”
       
       ส่วนบนหน้าเพจ “การเดินทางของพระจันทร์” พื้นที่ซึ่งมีแฟนเพจทวีจำนวนมากขึ้น เขาเลือกที่จะใช้เป็นพื้นที่ของการสื่อสารและตอบคำถามเฉพาะเรื่องงานภาพวาดสีน้ำเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาเคยประสบกับปัญหาเรื่องการบอกเล่าทุกอย่างที่เป็นความรู้สึกส่วนตัวผ่านโลกออนไลน์
       
       “ปัญหาคือ แต่ก่อน เราลงเกือบทุกเรื่องที่เป็นเรื่องความรู้สึกของเรา ผมก็เลยมองว่า ถ้าเกิดเราตั้งคอนเซ็ปต์ว่ามันเป็นเพจนำเสนอผลงานสีน้ำ ก็ควรจะต้องมีแต่ผลงาน ถ้ามันชัดขึ้นปัญหามันก็น้อยลง 
       
       ประโยชน์จากเฟซบุ๊ค ส่วนตัว ผมได้สื่อสารกับคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน อย่างที่สองเราเป็นนักเขียน เราไม่มีโอกาสเลยที่จะได้พูดคุยกับคนอ่าน ตรงนี้เป็นช่องทางนึงที่เราจะได้พูดคุยกับเขา ในเรื่องผลงาน ในเรื่องของตัวหนังสือ ซึ่งมันสะดวก 
       
       และอีกอย่างหนึ่งคนที่เขาติดตามผลงานของเรา เขาจะได้รู้ด้วยว่า เล่มใหม่จะออกเมื่อไหร่ จะมีผลงานอะไรอีกบ้าง”
       
       หยอยบอกว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่ใช้ facebook ส่วนตัว นอกจากหน้าเพจนำเสนอผลงาน และเลือกที่จะบริหารความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทผ่านช่องทางอื่น
       
       “เพื่อนที่สนิทๆกันก็ไปมาหาสู่ โทรศัพท์คุยกันอยู่แล้ว และผมพยายามกรองข้อมูลที่จะเข้ามาในหัว facebook มันมีประโยชน์คือเราได้รับรู้ข่าวสาร แต่บางทีมันก็มากเกินไป มันต้องกรองตรงนี้ ผมคิดว่าเรื่องมิตรภาพ หรือว่าเรื่องเพื่อน มันติดต่อกันได้หลายทาง”

  >>>วันเด็กยังอยู่กับผมเสมอ


       
       นอกจากนี้เขายังวางแผนการใช้ชีวิตไว้ว่าต้องหมั่นดินทางมากขึ้น เพื่อจะได้มีเวลาให้กับคนรักที่ทำงานอยู่คนละที่ แต่ยังไม่มีแผนมีทายาทตัวน้อยๆในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวัยและวันจะผ่านไปอีกแค่ไหน เขาบอกว่า ภายในพยายามรักษาความเป็นเด็กเอาไว้ เพื่อให้งานที่ทำในแต่ละวัน มีอะไรให้น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ
       
       “จริงๆแล้วมันก็เกี่ยวข้องกับงานของผมพอสมควร คือความเป็นเด็ก มันก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมทำหนังสือภาพ ผมพยายาม keep ความเป็นเด็กไว้ค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นงานที่ออกมา จะเห็นว่าผมไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ ผมใช้อุปกรณ์เครื่องเขียน ที่ต้องใช้มือเขียน ทั้งสีไม้ สีน้ำ 
       
       ผมพยายาม keep ความเป็นเด็กเหมือนตอนที่ผมวาดรูปเมื่อตอนเป็นเด็ก พยายามใช้คอมพิวเตอร์ ให้น้อยที่สุด เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต พยายามมองสองด้าน มองด้านที่เราเป็นผู้ใหญ่ กับ ด้านที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ผมพยายามมองให้มันเป็นสองแง่ เหมือนกับเอามาวิเคราะห์ดูว่า แบบไหนมันถึงจะเอามาบอกเล่ากับคนแล้วเข้าใจง่ายที่สุด”
       
       ย้อนกลับไปนึกถึงวันเด็กที่ตัวเอง เคยเป็นส่วนหนึ่งเมื่ออดีต ภาพที่ยังฉายชัดอยู่ในความทรงจำของหยอย คือภาพต่างๆดังต่อไปนี้
       
       “นึกถึงการประกวดวาดภาพระบายสี ผมอยู่ต่างจังหวัด มันก็จะมีงานตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ราชการ สวนสัตว์ ฯลฯ เขาจะมีกิจกรรมให้เล่นเพื่อชิงรางวัล และทุกที่ต้องมีคือ กิจกรรมวาดรูป ผมสนุกกับตรงนั้น เหมือนเป็นสนามให้เราพบปะผู้คน ได้ขนม และพวกเครื่องเขียน(ยิ้ม)”

 >>> แค่อารมณ์และความรู้สึกยังไม่พอ
       
       ในฐานะที่แฟนผลงานเป็นเด็กๆจำนวนไม่น้อย หยอยมีคำแนะนำให้กับน้องๆที่อยากมีความสุขกับการทำงานแบบเขาว่า
       
       “อย่างแรก เราต้องสนุกกับมันก่อน ห้ามท้อแท้ เพราะว่าจริงๆแล้วเรื่องการวาดรูป มันเป็นเรื่องสนุก เราก็ต้องทำให้มันสนุก มันจึงจะทำต่อเนื่องได้ยาวนาน เราต้อง enjoy กับสิ่งที่เราทำ 
       
       อีกอย่าง ถ้าเพิ่งเริ่มต้น อย่าเพิ่งไปมองเรื่องพัฒนาการ เราต้องคุยกับตัวเองเยอะๆ คุยว่า เราทำแล้วเราสนุกหรือเปล่า เราทำแล้วเรามีความสุขหรือเปล่า เพราะว่าส่วนใหญ่ที่ทำแล้วท้อก็คือ ทำแล้วเอาไปให้คนอื่นดู พอคนอื่นไม่ชอบ เขาตำหนิ เราก็ท้อไม่อยากทำต่อ ฉนั้นต้องคุยกับตัวเองมากๆ เหมือนกับว่าต้องสนุกกับสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานภาพประกอบหรืองานอะไรก็ตาม”
       
       และที่สำคัญ ถ้ารักแล้ว อย่าลืมใส่เรื่องของวินัยลงไปด้วย
       
       “เมื่อเราเลือกที่ทำงานชิ้นไหนให้เป็นจริงเป็นจัง หรือเป็นอาชีพแล้วเนี่ย สิ่งที่มันจะเสริมให้งานของเราออกมาดี มีคุณภาพ เราต้องใส่เรื่องความมีวินัยเข้าไป
       
       เราผ่านประสบการณ์มาแล้ว เรารู้ว่าแค่อารมณ์และความรู้สึกอย่างเดียว มันไม่ทำให้งานมีออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ แต่มันต้องมีการวางแผน ไม่ว่างานอะไร มันต้องมีการลงแรง ทุ่มเท ต้องแบ่งเวลา”
       
       Text : ฮักก้า Photo : ธัชกร กิจไชยภณ

ที่มา : http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9560000002715


‘เควนติน เบลค’ นักวาดภาพประกอบคู่หู ‘โรอัลด์ ดาห์ล’ | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

‘เควนติน เบลค’ นักวาดภาพประกอบคู่หู ‘โรอัลด์ ดาห์ล’—-

“ผมไม่รอแรงบันดาลใจ จริงๆแล้วผมไม่แน่ใจว่าแรงบันดาลใจคืออะไร แต่ผมแน่ใจว่าถ้ามันจะมา การที่ผมเริ่มทำงานเป็นเงื่อนไขให้มันมา” 
—เควนติน เบลค

เควนติน เบลค กลายเป็นสถาบันหนึ่งของชาติไ

ปแล้วเมื่อเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีเกียรติสูงสุดด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก(Children’s Laureate)ของอังกฤษเมื่อปี 1999 พอปี 2002 ได้รับรางวัลสูงสุดระดับนานาชาติที่มอบให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานภาพประกอบวรรณกรรมสำหรับเด็ก Hans Christian Andersen Awards ซึ่งว่ากันว่าเป็นรางวัลโนเบลสำหรับวรรณกรรมเยาวชน ภาพของเบลคมีรายละเอียดน้อย มีความหมายมาก ลายเส้นเรียบง่าย ยุ่งเหยิง เหมือนเขียนเร็วๆหวัดๆไม่ตั้งใจ ทำให้ภาพดูเคลื่อนไหวและน่าตื่นเต้น ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์เล็กๆน้อยๆ เพื่อทำความรู้จักนักวาดภาพประกอบที่สำคัญไม่แพ้นักเขียน

คุณเข้ามหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนศิลปะ?
-จำได้ว่าตอนนั้นผมคิดว่าถ้าผมเข้าโรงเรียนศิลปะ ผมจะไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย..ผมอยากเรียนภาษา ขณะเดียวกันถ้าผมเข้ามหาวิทยาลัยผมยังมีโอกาสทำงานศิลปะได้ ผมเลยไปเรียนภาษาอังกฤษที่เคมบริดจ์ (1953 – 1956) ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าคนเราจะเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นนักเขียนการ์ตูน นักวาดภาพประกอบ หรือศิลปินได้หรือเปล่า แต่คนทั่วไปมองว่าไม่ได้ ผมเลยไปเรียนเพิ่มเติมหลักสูตรครูอีกปีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยลอนดอน พอจบ ผมก็คิดว่าน่าจะลองเป็นศิลปินอะไรสักอย่างดู ผมไปที่โรงเรียนสอนศิลปะเชลซี ไม่เชิงว่าไปเรียนเขียนภาพประกอบหรอก แต่ไปเรียนวาดเส้นกับจิตรกรรมเพิ่มเติม

คุณเริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อไร?
-สัก 5 ขวบได้มั้ง ผมจำได้ว่ามีแขกคนหนึ่งมา เขาทักว่า ‘เอาแต่วาดรูป ไม่ยอมพูด’… ผมเคยวาดภาพให้นิตยสารของโรงเรียน แล้วก็วาดให้นิตยสาร Punch ด้วย ผมรู้ว่ามีคนวาดภาพส่งไปลงได้ ผมเลยลองวาดดูบ้าง ตอนอายุ 16-17 ภาพผมก็ได้ลง ได้เงินมา 7 กินนี ไม่รู้จะทำยังไง มันเป็นเช็คและผมไม่มีบัญชีธนาคาร… พอผมไปเรียนเพิ่มที่เชลซีก็ได้งานเขียนประจำสัปดาห์ละ 2 ชิ้นที่ Punch แล้วก็เริ่มเขียนลงที่ The Spectator 

คุณเริ่มเขียนภาพในหนังสือเด็กได้ยังไง?
-ผมสนใจเรื่องการศึกษา การวาดรูปและภาษา เลยดูเหมือนว่าการวาดภาพประกอบหนังสือเด็กเป็นสิ่งที่ผมทำได้ ผมไม่รู้ว่าเด็กๆ จะชอบหรือเปล่า ตอนนั้นผมอายุ 20 เศษๆ เลยคิดว่าจะวาดไปเรื่อยๆ ก่อน ดูซิว่าพออายุสัก 30 จะเป็นยังไง ถ้าไม่ได้เรื่องก็เลิก ถ้าทำได้ก็ทำต่อ ถึงตอนนั้นมันได้เรื่องได้ราวแล้วผมเลยทำต่อ ตอนเริ่ม ผมไม่รู้จริงๆว่าเริ่มยังไง ผมคุยกับจอห์น เยโอแมน เพื่อนผมว่า “นายเขียนเรื่องไหม ฉันวาดรูปให้” เขาเขียน ผมวาด เรื่องนั้นชื่อ A Drink of Water

แล้วเริ่มเขียนเรื่องเองตั้งแต่เมื่อไร?
-ปี 1968 ผมเขียนเรื่อง Patrick จริงๆแล้วเหมือนเป็นการประท้วงมากกว่าเพราะคนมักมองว่าผมเป็นนักวาดภาพประกอบขาว-ดำ ไม่เคยมีใครให้ผมวาดภาพสีเลย ผมจึงแก้ลำด้วยการเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่เล่นไวโอลินแล้วทำให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนสี เพราะงั้นก็เลยต้องวาดภาพสี

ทำงานกับโรอัลด์ ดาห์ลเป็นยังไงบ้าง?
-เริ่มแรกก็กังวลนิดหน่อย เขาเป็นคนที่น่าเกรงขาม แต่เราเข้ากันได้ดี…ที่น่ารักก็คือเขาอยากได้รูปจริงๆ เขาไม่ชอบใจถ้ายังได้ไม่มากพอ ไม่ใช่นักเขียนทุกคนนะที่เป็นแบบนี้ เราร่วมงานกัน 13 ปี ตั้งแต่ปี 1977 จนกระทั่งเขาเสียชีวิต
………
อ้างอิง
1.บทสัมภาษณ์แปลส่วนหนึ่งจากhttp://www.quentinblake.com/en/meet-qb/qaa
2.เควนติน เบลค : ชีวิตกับการวาดภาพประกอบ โดย ชมนาด บุญอารีย์ วารสารสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ที่มา : http://www.facebook.com/readerships


ปิดทีวี เปิดหนังสือดีกว่า | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

การดูโทรทัศน์ของเด็กเป็น1ใน 10เรื่องเด่นประเดินฮิตในโครงการ “10 เรื่องเลี้ยงลูกยอดฮิต…พิชิตได้” ที่เราได้จากการสอบถามบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานให้คำปรึกษาพ่อแม่ในเรื่อง การเลี้ยงดู และจากการสุ่มสอบถามความต้องการพ่อแม่ว่า เรื่องไหนเป็นปัญหาที่สนใจและต้องการเรียนรู้มากที่สุด
ต้องย้ำและบอกกันชัดๆ อีกครั้งค่ะว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของพ่อแม่หลายๆ คน ที่คิดว่าโทรทัศน์ทำให้ลูกมีสมาธิ เพียงเพราะเห็นว่าลูกนิ่งและสงบลงได้ทันทีที่จอภาพถูกเปิดขึ้น ความ จริงก็คือนอกจากโทรทัศน์จะไม่ได้ช่วยให้ลูกมีสมาธิแล้ว ยังทำให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนรู้หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้น้อยลงอีกด้วย

อีกทั้งในวัยเด็กนั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการในทุกๆ ด้านของชีวิตค่ะ เด็กต้องการความรัก ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่ ต้องการคน”ที่จะเป็นแม่แบบในการถ่ายทอดภาษา แนวคิด การกระทำ ต้องการการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสของจริง ต้องการกิจกรรมและคนที่จะคอยช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งความต้องการเหล่านี้โทรทัศน์ที่เป็นเครื่องจักรไร้ชีวิตไม่สามารถให้ได้

นอกจากนี้เด็กยังต้องการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการ เรียนรู้และการทำงานของ สมอง และสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดนั้นก็คือ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองนั่นแหละค่ะ เพราะระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่กอด พูดคุย เล่นหยอกล้อ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกับลูกนั้น ประสาทสัมผัสต่างๆ ของลูกกำลังได้รับการกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้เห็นหน้าตา สีหน้าของพ่อแม่ ได้ยินเสียง ได้รับการสัมผัสโอบกอดจากพ่อแม่ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้คิด ได้พูดคุยโต้ตอบ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองสมองน้อยๆ ของลูกกำลังทำงานอย่างเต็มที่ โดยมีการขยายเครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างใยประสาท ซึ่งถ้าประสาทสัมผัสต่างๆ ของเด็กได้รับการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ จุดเชื่อมต่อเหล่านี้ก็จะยิ่งพัฒนาแข็งแรงมากขึ้น จนกลายเป็นวงจรที่สมบูรณ์ แต่ถ้าไม่มีการใช้งานเซลล์สมองเหล่านั้นก็จะหมดสภาพและลีบฝ่อไปในที่สุด

ดังนั้นคิดดูง่ายๆ นะคะว่าถ้าวันหนึ่งๆ ลูกเรานั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โอกาสที่เขาจะได้ฝึกฝนการเคลื่อนไหวร่างกาย พูดคุยโต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็จะน้อยลง เพราะโทรทัศน์เป็นการสื่อสารทางเดียว (one way communication)ซึ่งนั่นอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารของลูก เช่น พูดช้าตามมาได้ ถ้าเรายังปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์จนเป็นกิจวัตร จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าโทรทัศน์ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสมองและพัฒนาการของ เด็กๆ เท่าไหร่ ไม่นับรวมผลลบในด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าพฤติกรรมเลียนแบบทั้งท่าทาง คำพูดไม่น่าเอ็นดู พฤติกรรมก้าวร้าวที่ลูกจำมาจากในทีวี ความคิดจินตนาการที่ค่อยๆ หดหายไป ปัญหาสุขภาพที่จะตามมา เช่น ปัญหาสายตาจากการที่ดูโทรทัศน์มากๆ ในระยะใกล้ๆ หรือโรคอ้วนจากการที่ลูกมีพฤติกรรมดูไปด้วยกินไปด้วยจนเป็นนิสัย

สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เราต้องหาทางเลือกที่ดีสำหรับ การ เรียนรู้ของลูกไปพร้อมๆ กับมีมาตรการการใช้โทรทัศน์ในบ้านของเราให้มากยิ่งขึ้นค่ะ

เปิดนิทาน…พัฒนาลูก Albert Einstein กล่าวไว้ว่า “หากอยากให้เด็กฉลาดหลักแหลมเล่านิทานให้เขาฟัง และหากอยากให้เด็กฉลาดมากขึ้นเล่านิทานให้มากขึ้น” เพราะการฟังนิทานแต่ละเรื่องนั้นเด็กๆ ต้องใช้พลังในการจินตนาการ ขณะเดียวกันนั้นเซลล์สมองของเด็กก็จะมีพัฒนาจุดเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้น ยิ่งได้ฟังซ้ำๆ การเชื่อมต่อนั้นก็ยิ่งมีประสิทธิภาพและมั่นคงมากขึ้น นั่นหมายถึงความสามารถในการคิด การเรียนรู้ และการจินตนาการก็มีมากขึ้นด้วย และนิทานยังใช้เป็นสื่อในการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเรียนรู้หลักคิด ศีลธรรม การให้คุณค่าหรือค่านิยมในการดำเนินชีวิตต่างๆ ได้ โดยการสอดแทรกผ่านเรื่องราวในนิทาน และสำหรับเด็กแล้วความน่าสนใจของนิทานไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าโทรทัศน์เลย เพราะนิทานมีรูปภาพเรื่องราวน่าติดตาม มีน้ำหนักเสียงหนักเบา ลีลาการเล่าของพ่อแม่ มีความอบอุ่นใกล้ชิดจากคนที่เด็กรัก ถ้าเพียงแต่เราจะเติมเต็มช่วงเวลาของลูกด้วยนิทานที่ลูกชอบอย่างสม่ำเสมอ

การพานิทานเข้าไปเป็นที่หนึ่งในใจลูกแทน โทรทัศน์ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ที่เหนือกว่าโทรทัศน์คือ นิทานฟังบ่อย เล่าบ่อยแค่ไหน หรือต่อให้เล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำก็ไม่มีพิษมีภัยกับวัยเด็ก ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีกับเด็กมากเท่านั้น

ตัวอย่างกิจกรรมที่สะท้อนการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น โครงการ Book Start ที่มีจุดประสงค์ให้เด็กรู้จัก คุ้นเคยกับหนังสือและการอ่านตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยเด็กแรกเกิดจะได้รับถุงของขวัญซึ่งภายในจะมีหนังสือนิทาน และคู่มือแนะนำพ่อแม่ถึงวิธีการเลือกหนังสือ ใช้หนังสือกับลูก และโครงการถุงรับขวัญที่มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือ และแนะนำแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองเด็กให้กับพ่อแม่ โดยภายในบรรจุสื่อเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น หนังสือ ของเล่นเสริมพัฒนาการ เทปเพลงกล่อม ฯลฯ แจกให้กับเด็กที่เกิดในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ถึง 27 กรกฎาคม 2549 ฉลาดใช้…รู้เท่าทันทีวี ภาพเคลื่อนไหว แสงสี เรื่องราวที่ชวนติดตามและความสนุกจากจอโทรทัศน์เป็นตัวล่อ และดึงดูดความสนใจของเด็กให้ติดกับได้อย่างดีอยู่แล้ว แล้วถ้าคุณพ่อคุณแม่เองมีความคิดว่าต้องใช้ทีวีเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ลูกอยู่นิ่งๆ ให้เรามีเวลาได้จัดการธุระส่วนตัวบ้าง หรือตัวเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ติดโทรทัศน์เหมือนกัน ก็ยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ลูกเล็กๆ ของเรามีเพื่อนรักเป็นโทรทัศน์ได้ไม่ยาก ยิ่งในปัจจุบันที่สื่อมีความหลากหลายมากขึ้น พ่อแม่ไม่ใช่แค่รับมือกับโทรทัศน์ช่องปกติ (Free TV) เท่านั้น แต่ยังต้องคอยรับมือกับเคเบิ้ลทีวีที่มีรายการมาเสิร์ฟถึงห้องนอนตลอด 24 ชั่วโมง ไหนจะวีซีดี เกมคอมพิวเตอร์อีก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ถ้าเพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จำกัดเวลาในการดูโทรทัศน์ของลูก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ควรหลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์ค่ะ ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 2 ขวบ วันหนึ่งๆ ไม่ควรให้ลูกอยู่หน้าจอโทรทัศน์นานเกิน 1-2 ชั่วโมง ที่สำคัญเราเองต้องเคร่งครัดกับสิ่งที่กำหนดนะคะ เพราะจะทำให้เราฝึกนิสัยการไม่เป็นเด็กติดโทรทัศน์ของลูกได้ผลมากขึ้น

  • ต้องเป็นพ่อแม่ช่างเลือกค่ะ คือรู้จักที่จะคัดสรร รายการที่ดี ที่เหมาะสม มีการสอดแทรกเนื้อหาในเชิงบวกให้กับลูก แม้แต่การ์ตูนเองก็ต้องเลือกที่ลูกดูแล้วจะได้เรียนรู้จากเรื่องราวนั้นๆ ด้วย อย่าเห็นว่าขอให้เป็นการ์ตูนก็ใช้ได้นะคะ เพราะในการ์ตูนหลายเรื่องก็มีฉากการต่อสู้ การแสดงออกที่ก้าวร้าว ซึ่งลูกจะค่อยๆ ซึมซับรับเข้ามา และแสดงออกในลักษณะเดียวกันได้
  • เป็นเพื่อนดูไปด้วยกันกับลูก และใช้รายการโทรทัศน์เป็นสื่อนำในการชักชวนลูกพูดคุย เรียนรู้และสนุกไปด้วยกัน อย่าปล่อยให้โทรทัศน์แย่งลูกและเวลาที่มีค่าไปจากเราค่ะ
  • ตำแหน่งโทรทัศน์ในบ้านก็สำคัญ ในห้องนอนลูกไม่ควรมีโทรทัศน์ตั้งอยู่และไม่ควรเสียบปลั๊กโทรทัศน์ทิ้งไว้ ให้เด็กกดเปิดเองได้สะดวก เด็กๆ แค่เขาเห็นเราเปิดไม่กี่ครั้งก็จำและทำตามได้แล้วค่ะ
  • มีทางเลือกในการทำกิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกเช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ เล่นเครื่องเล่นสนาม ต่อบล็อก เล่นขายของ เล่นบทบาทสมมติ ทำงานศิลปะ ถ้านึกไม่ออกก็ชวนลุกเล่นการละเล่นสมัยก่อนที่คุณพ่อคุณแม่ เคยเล่นเมื่อครั้งเป็นเด็กสิคะ หรือชวนลูกช่วยทำงานบ้าน เช่น ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ หรือไปเที่ยวนอกบ้าน ไปช็อปปิ้ง ปิกนิกหรือทำธุระกับคุณพ่อคุณแม่นอกบ้านบ้าง เป็นต้น
  • ระวัง อย่าให้ตัวเราเองกลายเป็นแบบอย่างของการดูโทรทัศน์ให้ลูกไป เราควรเป็นแบบอย่างในการทำกิจกรรมที่อยากส่งเสริมให้ลูก เช่น เวลาว่างอ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ แทนการดูโทรทัศน์ เป็นต้น

วิธีดังกล่าวไม่ยากเกินแรงคุณพ่อคุณแม่เลยใช่ไหมคะ เห็นโทษของการปล่อยปละให้ลูกอยู่กับเจ้าเครื่องสี่เหลี่ยมไร้ชีวิตอย่างนี้ แล้วเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังนับแต่วินาทีนี้เลยค่ะ

จาก – นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 270 กรกฎาคม 2548


เกริ่นนำ คอลัมน์รวมบทความจากอาจารย์ลาภ อำไพรัตน์ | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

รวมบทความจากอาจารย์ลาภ อำไพรัตน์

อาจารย์ลาภ ได้ส่งบทความมาให้เผยแพร่ในเว็บของสถาบันการ์ตูน

เพื่อให้ผู้สนใจได้อ่านบทความของอาจารย์เพื่อเพิ่มเติมความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ

เนื่องจากเว็บไซต์ของสถาบันฯ มีการย้ายมาอยู่บ้านใหม่แห่งนี้

ก็ยังไม่มีโอกาสนำงานที่อาจารย์เคยส่ง ๆ ไว้ นำมาลงเผยแพร่ซักที

หลังจากนี้ก็ได้โอกาสแล้วที่จะนำงานที่หายไป และงานใหม่ ๆ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ


รวมบทความจากอาจารย์ลาภ อำไพรัตน์-จิตรกรไทย

รวบรวมคำคม, ความเรียง, คำถามพร้อมคำตอบเรื่องปัญหาศิลปะ อ.ลาภ อำไพรัตน์

เป็นผู้บุกเบิกและก่อตั้งกลุ่มศิลปะวาดภาพเหมือนเชิงสะพานพุทธ กรุงเทพฯ,

ครูแผนกวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี,

ครูแผนกศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี,

อาจารย์พิเศษ (วิชาจิตรกรรม) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จบการศึกษาระดับศิลปบัณฑิต (ศบ.) จากคณะจิตรกรรม โรงเรียนเพาะช่าง ด้านวิชาการ-

ได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2550,

รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม (ด้านศิลปะ) ระดับประเทศ ประจำปี 2551

และได้รับคัดเลือกให้เป็นครูดีเด่นผู้มีผลงานดีเด่นด้านการทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนหลายครั้ง

ด้านวงการศิลปะ-ได้รับรางวัลเกียรติคุณในการประกวดแข่งขันศิลปกรรมจากเวทีการประกวดต่างๆ หลายครั้ง

ปัจจุบัน-เป็นข้าราชการประจำกรมศิลปากร แต่ใจยังรักการสอนหนังสืออยู่

นอกจากเป็นข้าราชการประจำกรมศิลปากรแล้ว ยังเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับศิลปะ,

นักวาดภาพประกอบ, คอลัมนิสต์, นักสนับสนุนผู้สนใจในศิลปะ,

ผู้ให้ความรู้ด้านศิลปะกับผู้สนใจทั่วไป โดยเดินทางไปสาธิตและบรรยายมาแทบทั่วทุกจังหวัด

อีกทั้งยังเป็นนักเขียน นักคิด นักแหกกฎคนสำคัญของวงการศิลปะ

ทุกวันนี้นอกจากจะสนใจในศิลปะแนวสัจนิยมเป็นหลัก

ยังสนใจในเรื่องของการถ่ายภาพด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมที่

https://www.facebook.com/hyperdrawing

https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A0-%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%8C/130169937082511


ที่มาของการ์ตูน | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

ที่มาของการ์ตูน
  การ์ตูนที่เราๆท่านๆอ่านกันทุกวันนี้นั้น หากย้อนกลับไป ก็คงจะเริ่มต้นที่ยุโรป ประมาณคริสต์ศตวรรษที่13 ช่วงเรเนซองต์ ซึ่งการ์ตูนนั้นก็มีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาเลี่ยน catone ซึ่งแปลว่า กระดาษผืนใหญ่ และ ในสมัยนั้นก็ยังเป็นงานศิลปะแบบเฟรสโก้
(เป็นงานภาพพวกสีน้ำมัน) โดยเฉพาะผลงานของ ลีโอนาร์โด้ ดาวินซี่ และ ราฟาเอลนั้นจะมีราคาสูงมาก

  และจากนั้น การ์ตูนของแต่ละชาติและแต่ละพื้นที่ก็มีการพัฒนาแตกต่างกันไป จนเป็นสิ่งที่เราเห็นกัน ก็คือ มีการเดินเรื่องกันเป็นช่องสี่เหลี่ยม และมีการใส่คำพูดของ ตัวการ์ตูนในแต่ละช่องด้วย หรือเรียกกันว่า คอมิค 

  การ์ตูนฝรั่ง 
  โดยเริ่มต้น ที่ ยุโรป สมัยคริสศตวรรษที่18 โดยมีการค้นพบ ภาพร่างของการ์ตูนของWilliam Hogarth นักวาดการ์ตูนชาวอังกฤษ ในปี 1843 นิตยสารPunch ก็ได้ลงการ์ตูนล้อเลียนการเมืองของJohn Leech และถือว่า เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสืออย่างเป็นทางการอีกด้วย
ซึ่งในช่วงนั้นเองการ์ตูนเสียดสีทางการเมืองเป็นที่นิยมมากในอังกฤษอีกด้วย และจากจุดเริ่มต้นนี้เอง ก็ทำให้ประเทศอื่นๆอย่าง เยอร์มัน จีน ก็เริ่มตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนลงในสื่อต่างๆด้วย 

   ในปี 1884 Ally Sloper’s Half Holiday ก็เป็นนิตยสารการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกตีพิมพ์อีกด้วย
 ในคริสต์ศตวรรษที่20 งานการ์ตูนก็เริ่มมีความแตกต่างจากนิยายภาพเรื่อยๆ ช่วงต้นศตวรรษที่20 ในสหรัฐฯ ก็มีการตีพิมพ์การ์ตูนลงในหนังสือพิมพ์ และรวมเล่มซึ่งจะเน้นแนวขำขันเป็นหลัก 

 ในปี1929 ติน ติน ผจญภัย การ์ตูนแนวผจญภัยก็ได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ของเบลเยี่ยม ซึ่งตีพิมพ์ลงสีขาวดำในขณะนั้น 
ส่วนการ์ตูนภาพสีนั้น ก็เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกที่สหรัฐ และ The Funnies ก็จัดว่าเป็นการ์ตูนภาพสีเรื่องแรกอีกด้วย


ช่วงสงครามโลกครั้งที่2นั้น คนทั่วโลกก็ปั่นป่วน สังคมก็เริ่มมีปัญหา ซึ่งทำให้มีผลต่องานการ์ตูนในยุคนั้นก็คือ จะเน้นแนวซุปเปอร์ฮีโร่ อย่างซุปเปอร์แมน เป็นต้น 
และในปัจจุบันนั้น การ์ตูนฝรั่งก็เริ่มที่จะมีหลากหลายแนวมากขึ้น เนื้อเรื่องมีมิติมากขึ้น รวมไปถึงเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมีการให้ทุนการศึกษาในการพัฒนาด้านการ์ตูนอีกด้วยในปี 1980

ติน ติน ผจญภัย

Ally Sloper’s Half Holiday ปี1884

     

   การ์ตูนญี่ปุ่น
  ส่วนพัฒนาการของการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น ก็เริ่มมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่2 มังงะ(manga) เริ่มพัฒนาให้ทันสมัยและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่ง มังงะนั้น ก็เป็นการนำ อุกิโยเอะ (ภาพเขียนแบบญี่ปุ่น ซึ่งจะเน้นความคิดและอารมณ์มากกว่าลายเส้นและรูปร่าง) กับการเขียนภาพแบบตะวันตกมารวมกัน ซึ่งคำว่ามังงะ นั้นก็แปลตรงๆว่า ความไม่แน่นอน ซึ่งเริ่มต้นจากหนังสือโฮคุไซ มังงะ ส่วนอีกเล่มหนึ่งก็คือ งิงะ ซึ่งเป็นภาพล้อเลียนจากศิลปิน12ท่าน ซึ่งดูแล้วจะใกล้เคียงกับมังงะมากที่สุด


ภาพอุกิโยเอะ

จุดเริ่มต้นของการพัฒนานั้นก็มาจากการค้าขายระหว่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น ญี่ปุ่นในขณะนั้นต้องการที่จะพัฒนาไปสู่สังคมใหม่ ก็เลยมีการจ้างศิลปินชาวตะวันตกให้เข้ามาสอนศิลปะ สไตล์ตะวันตกทั้งด้านลายเส้น สี หรือ รูปร่าง ซึ่งเป็นส่วนที่ภาพอุกิโยเอะไม่มีนั้นมารวมกัน เป็น มังงะหรือ การ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน และการ์ตูนญี่ปุ่น ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสั่งยกเลิก การคว่ำบาตรสื่อต่างๆ ซึ่งมังงะในยุคแรกๆนั้น จะออกไปทางนิยายภาพมากกว่า หลังจากนั้น เท็ตซึกะ โอซามุ 
ก็เป็นผู้ที่พัฒนาการ์ตูนแบบญี่ปุ่นให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น และเป็นอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ จนได้รับการขนานนามว่า ปรมาจารย์แห่งการ์ตูนญี่ปุ่น และนักเขียนการ์ตูนยุคหลังๆก็ได้พัฒนาแนวคิดของ เนื้อเรื่องไป สร้างสรร จนได้การ์ตูนเรื่องสนุกที่หลายคนชื่นชอบกัน และความนิยมของการ์ตูนญี่ปุ่นก็แพร่กระจายความนิยมไปยัง เอเชีย ยุโรป รวมถึงอเมริกา และมีผลทำให้การ์ตูนเรื่องใหม่ๆทางฝั่งตะวันตกก็ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย(อย่างเช่น เรื่อง Witch เป็นต้น)

   การ์ตูนไทย
   ส่วนพัฒนาการของการ์ตูนไทยนั้น ก็เริ่มมาจากงานภาพวาดบนกำแพงตามวัดต่างๆ หลังจากที่ไทยเรา เริ่มพัฒนาประเทศให้เข้ากับวัฒนกรรมตะวันตกนั้นเอง การ์ตูนไทยก็เริ่มมีบทบาทที่เป็นรูปภาพประกอบเนื้อเรื่องในนิยาย หรือเรียกอีกอย่างก็คือ นิยายภาพ โดยเฉพาะการ์ตูนการเมือง
   ในปีพ.ศ.2500 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของหนังสือการ์ตูนไทย มีการตีพิมพ์รวมเล่มจากหนังสือพิมพ์ และ วารสาร โดยมี เหม เวชกร และ จุก เบี้ยวสกุล เป็นนักเขียนที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น หลังจากนั้นก็มีการตีพิมพ์เป็นการ์ตูนเล่มละบาท ซึ่งเป็นแนวสยองขวัญ ตามด้วย การ์ตูนแก๊กเน้นตลก อย่าง ขายหัวเราะ มหาสนุก หนูจ๋า และ เบบี้ ที่ยังคงขายดีจนถึงปัจจุบัน 
ส่วนการ์ตูนไทยตามแบบสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นนั้น ก็เพิ่งจะตื่นตัวไปไม่กี่สิบปี โดยจุดเริ่มต้น มาจากนิตยสารไทยคอมิค ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ และจากจุดนี้นี่เองก็ทำให้การ์ตูนไทยที่ทำท่าจะผีเข้าผีออกก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของคนอ่านมากขึ้น ในสไตล์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูนแปลงจากวรรณคดี บุคคลสำคัญ ,Joe-theSeacret Agent ,มีด13,การ์ตูนเสนอมุมมองใหม่ๆอย่าง HeSheIt, นายหัวแตงโม รวมไปถึง การ์ตูนดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกและคุณทองแดง

 

 

 

 

อ้างอิงจาก

http://en.wikipedia.org
คอลัมน์ Legend of Animation จาก นิตยสาร @nime ฉบับที่1
“การ์ตูนไทยสายพันธุ์ใหม่” ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11/5/47

http://www.kartoon-discovery.com/history/history1.html


ประวัติการตูนไทย | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

การ์ตูนไทย ประวัติจากคำบอกเล่า เริ่มจากเป็นการ์ตูนแนวนิยายพื้นบ้าน ผี และแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ราคาเล่มละ 1 บาท นักเขียนการ์ตูนไทยที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น เช่น จุก เบี้ยวสกุล   ต่อมาเริ่มมีการ์ตูนไทยแนวตลกสั้น ๆ ในลักษณะ การ์ตูน 3 ช่องจบ ออกมาเพิ่ม เช่น หนูจ๋า เบบี้  ขายหัวเราะ และมหาสนุก

          ภาพยนตร์เรื่องผีสามบาท นำมาจากการ์ตูนไทยในสมัยก่อน โดยเนื้อเรื่องมีผีสามตนจากการ์ตูนเล่มละบาท 3 เล่ม เท่ากับ 3 บาท จึงตั้งชื่อว่า ผีสามบาท

          ส่วนการ์ตูนไทยในลักษณะมังหงะอย่างที่พบเห็นโดยทั่วไปในปัจจุบัน น่าจะมีมาไม่ถึงยี่สิบปี โดยนิตยสารการ์ตูนไทยในแนวมังหงะยุคบุกเบิกได้แก่ ไทคอมมิค (Thai Comic) ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ และ เอ-คอมมิค (a-comic)

ประวัติการ์ตูนไทย

          ยุคแรก 

          ภาพล้อฝีมือขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมืองคนแรกของไทย  ประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยเริ่มจากการเข้ามาของวิทยาการเขียนภาพแบบตะวันตก ซึ่งขรัวอินโข่ง จิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้นำมาใช้เป็นคนแรกในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในลักษณะเหมือนจริง หลายคนจึงถือกันว่าท่านเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยคนแรก

          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ภาพล้อเลียนหรือการ์ตูนในเมืองไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะแนวการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ยุคนี้ได้มีนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกเกิดขึ้น คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) แม้รัชกาลที่ 6 เองก็ทรงโปรดการ์ตูนลักษณะดังกล่าว ดังปรากฏหลักฐานว่า มีภาพวาดฝีพระหัตถ์ล้อเหล่าเสนาบดีและข้าราชบริพารในพระองค์อยู่เสมอๆ ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย


                                                                                ภาพล้อ   ฝีมือขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) 
                                                                                    นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกของไทย


          ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 วงการการ์ตูนซบเซาลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ จนถึง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้นักเขียนการ์ตูนมีเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นมากขึ้น จึงมีนักเขียนการ์ตูนมีชื่อเสียง เกิดขึ้นในยุคนี้หลายคน อาทิ สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้นำเรื่องสังข์ทองมาวาด เป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทย ลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และเจ้าของตัวการ์ตูน “ขุนหมื่น” ซึ่งดัดแปลงมาจากป๊อบอายและมิกกี้ เมาส์ โดยเป็นตัวตลกแทรกอยู่ในการ์ตูนจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องต่างๆ ต่อมานักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ จึงสร้างการ์ตูนตัวหลักของตัวเองขึ้นมาบ้าง นอกจากนี้ยังมีนักเขียนการ์ตูนแนวเดียวกับ สวัสดิ์ จุฑะรพ คนอื่นๆ เช่น วิตต์ สุทธิเสถียร จำนงค์ รอดอริ ส่วนนักเขียนการ์ตูนในยุคเดียวกัน แต่วาดคนละแนวก็มีเช่นกัน เป็นต้นว่า ฉันท์ สุวรรณบุณย์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนเด็กเป็นคนแรกของประเทศไทย


                                       ภาพล้อ  ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต

                                                 (แหล่งที่มา สุภาพ  ดวงดี : ลีลาการวาดภาพการ์ตูน ศึกษานิเทศก์,หน่วย เขตการศึกษา 11)



ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ยุคทอง)

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การ์ตูนไทยซบเซาลงมากจากภัยสงครามเช่นเดียวกับวงการวรรณกรรม เมื่อสิ้นสงครามแล้ว วงการการ์ตูนไทยจึงฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ในยุคนี้ปรากฏนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของฉายา “ราชาการ์ตูนไทย” ซึ่งได้วาดทั้งการ์ตูนตลกและการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ในยุคเดียวกันนี้ก็มีนักวาดภาพประกอบผู้โด่งดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ เหม เวชกร ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าท่านก็วาดการ์ตูนด้วยเหมือนกัน

          พ.ศ. 2495 ได้มีการ์ตูนเด็กเกิดขึ้นเป็นเล่มแรก คือ หนังสือการ์ตูน “ตุ๊กตา” อันเป็นผลงานของนักเขียนการ์ตูนพิมล กาฬสีห์ มีตัวละครหลักสี่คน คือ หนูไก่ หนูนิด หนูหน่อย และหนูแจ๋ว และประสบความสำเร็จอย่างสูง (เลิกออกประมาณ พ.ศ. 2530 เนื่องจากพิมล กาฬสีห์ เสียชีวิต) หลังจากนั้น จึงมีการ์ตูนเด็กออกมาอีกหลายเล่ม เช่น การ์ตูน “หนูจ๋า” ของ จุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) ซึ่งเริ่มวางแผงเล่มแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2500 และที่ได้รับความนิยมตามมาอีกเล่มก็คือการ์ตูน “เบบี้” ของ วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ ซึ่งเริ่มวางแผงฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ตัวการ์ตูนหลักของเบบี้นั้นมีมากถึงสิบกว่าคน บางตัวก็มีการนำไปแสดงหนังโฆษณาก็มี คือคุณโฉลงและคุณเต๋ว หนังสือทั้งสองเล่มนี้อยู่ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น และยังคงออกมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังสือการ์ตูนเด็กที่แฝงสาระมากอีกเล่มหนึ่งก็คือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน ซึ่งมี ทาร์ซานกับเจ้าจุ่น เป็นตัวชูโรง ผู้วาดก็คือ รงค์ นักเขียนการ์ตูนนิยายภาพที่สร้างชื่อเสียงในชัยพฤกษ์การ์ตูน อย่างเช่น เตรียม ชาชุมพร ที่เขียนเรื่อง “เพื่อน” โอม รัชเวทย์ สมชาย ปานประชา พล พิทยกุล เฉลิม อัคภู ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว

          นักเขียนคนอื่นที่มีชื่อเสียงร่วมสมัยได้แก่ พ.บางพลี (เจ้าของผลงานเรื่อง อัศวินสายฟ้า และศรีธนญชัย), ราช เลอสรวง, จุก เบี้ยวสกุล ฯลฯ ซึ่งในยุคนี้ส่วนมากจะนิยมวาดการ์ตูนเรื่อง บางเรื่องยาวเป็นร้อยๆ หน้า นับว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนเรื่องทีเดียว

          ยุคต่อเนื่องจาก ชัยพฤกษ์การ์ตูน กลุ่มนักเขียนการ์ตูนแนวหน้า 5 ท่าน มารวมกลุ่มกันใหม่ชื่อว่า “กลุ่มเบญจรงค์” เปิดเป็นสำนักงานเล็กแถวสี่แยกเสือป่า ถนนเจริญกรุง โดยมี เตรียม ชาชุมพร, โอม รัชเวทย์, สมชาย ปานประชา, พล พิทยกุล, เฉลิม อัคภู ทำหนังสือการ์ตูนรายเดือน ขึ้นมา ชื่อ “เพื่อนการ์ตูน” วางขายอยู่ในตลาดได้พักใหญ่ก็ปิดตัวลง ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ก็มีกล่มทำงานเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ซึ่งห้องข้างๆของ กลุ่มเบญจรงค์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสำนักพิมพ์คุณภาพผลิตหนังสือสำหรับเด็กมากมายนั่นคือสำนักพิมพ์ห้องเรียนโดยคนคุณภาพอย่าง คุณศิวโรจน์, คุณเล็ก เป็นกำลังสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น

ปกการ์ตูนนิยายภาพสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นวาดโดย ราชันย์

ยุคซบเซา

           ยุคที่การ์ตูนไทยเงียบหาย แต่ยังแอบทำหน้าที่เงียบๆ ตามซอกหลืบ เป็นการ์ตูนราคาถูกที่พอให้ผู้อ่านหาซื้อได้โดยเบียดเบียนเงินในกระเป๋าให้น้อยที่สุด อาจลดคุณภาพลงบ้างตามความจำเป็น นี่คือยุคของ “การ์ตูนเล่มละบาท” โดยเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สากล ต่อมาหลายสำนักพิมพ์ก็ทำตามออกมา สำนักพิมพ์สุภา,สำนักพิมพ์สามดาว, บางกอกสาร์น เป็นต้น นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่การ์ตูนไทยทำหน้าที่เพื่อต่อผ่านไปยังการ์ตูนยุคต่อมา แม้กระนั้นนักเขียนการ์ตูนไทยยุคนั้นก็ฝากฝีมือไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมหลายท่านด้วยก้น เช่น นักรบ รุ่งแก้ว,รุ่ง เจ้าเก่า,เพลิน,เทพบุตร, ชายชล ชีวิน,แมวเหมียว,ราตรี,น้อย ดาวพระศุกร์,ดาวเหนือ,มารุต เสกสิทธิ์ เป็นต้น โดยบางครั้งก็ได้นักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนหน้านั้นช่วยเขียนปกให้ เพื่อเสริมคุณภาพขึ้นอีกระดับหนึ่ง เช่น จุก เบี้ยวสกุล เป็นเหตุทำให้การ์ตูนเล่มละบาท ได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมากในยุคหนึ่ง จนสามารถทำให้คำว่า”การ์ตูนเล่มละบาท” กลายเป็นตำนาน เป็นชื่อเฉพาะ และเป็นสัญลักษณ์ ที่เรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสไตล์การ์ตูนที่มีลักษณะเฉพาะ

สำนักพิมพ์ที่เป็นแหล่งรวมของนักวาดการ์ตูน มีมากมาย เช่น บางกอกสาส์น, ชนะชัย การ์ตูนเล่มละบาทนี้เป็นที่ฝึกฝนฝีมือของนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ นักเรียนศิลปะที่ต้องการหารายได้ในระหว่างเรียนหนังสือ ปัจจุบันหลายท่านกลายเป็นนักเขียนการ์ตูนคุณภาพระดับแนวหน้าของเมืองไทย

แนวเนื้อเรื่องของการ์ตูนเล่มละบาท มีทั้งเรื่องผี, เรื่องชีวิต, นิทาน, เรื่องตลก, เซ็กซ์ โดยเฉพาะเรื่อง “ผี” เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากของผู้อ่าน เป็นความตื่นเต้นแบบง่ายๆ ที่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด



ยุคปัจจุบัน

          ปัจจุบัน การ์ตูนไทยที่ถือได้ว่าครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในเวลานี้ก็คือ ขายหัวเราะ-มหาสนุก-ไอ้ตัวเล็ก-หนูหิ่นอินเตอร์ และหนังสือการ์ตูนอื่นๆ ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งแนวการ์ตูนจะเป็นการ์ตูนประเภทการ์ตูนแก๊กและการ์ตูนเรื่องสั้นจบในตอนเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพัฒนาการ์ตูนไทยในรูปแบบคอมมิคขึ้น จากกลุ่มคนที่มีประสบการณ์การอ่านการ์ตูนแนวมังงะของญี่ปุ่น เท่าที่ปรากฏในเวลานี้ สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์การ์ตูนไทยแนวดังกล่าวได้แก่ สำนักพิมพ์บุรพัฒน์ สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ และสำนักพิมพ์เนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์ ตลาดของการ์ตูนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เน้นที่กลุ่มวัยรุ่น ในขณะที่การ์ตูนนิยายภาพแบบดั้งเดิมยังคงมีการผลิตอยู่เรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะอิงกับตลาดระดับล่าง เช่นหนังสือเล่มละบาท ซึ่งปัจจุบันปรับตัวมาขายในราคาเล่มละห้าบาท

                                                                                  หน้าปกการ์ตูนขายหัวเราะฉบับที่  1 พ.ศ. 2529                               

การ์ตูนไทยแนวมังงะ

          ขณะที่การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาเผยแพร่ในไทยก็ได้มีคนกลุ่มหนึ่งอยากผลิดการ์ตูนขึ้นเองบ้าง แต่ก็มีลายเส้นป็นเอกลักษ์เฉพาะตัวจะเห็นได้จากพวกที่วางขายของ hand made ตามถนน แต่บางพวกก็ส่งผลงานเข้าสำนักพิมพ์ที่อยู่ในไทย เช่น สำนักพิมพ์บงกชพับลิชชิ่ง สำนักพิมพ์ NED  ก็มี ส่วนมากยังไม่มีการสอนวาดรูปการ์ตูนชนิดนี้อย่างเป็นทางการสักเท่าไหร่ ส่วนมากนั้นจะเป็นการเขียนเองโดยใช้พรสวรรค์เสียมากกว่า และมักจะไม่พบเห็นกันง่ายๆ อีกทั้งงานประจำปีของการ์ตูนก็ยังมีแค่กรุงเทพเท่านั้นทำให้นักเขียนเลือดใหม่ที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพมีโอกาสแสดงฝีมือได้น้อยลง



แหล่งที่มา    :    http://blog.eduzones.com/mona/2838

                 :        http://th.wikipedia.org/wiki/