การดูโทรทัศน์ของเด็กเป็น1ใน 10เรื่องเด่นประเดินฮิตในโครงการ 10 เรื่องเลี้ยงลูกยอดฮิต…พิชิตได้ ที่เราได้จากการสอบถามบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานให้คำปรึกษาพ่อแม่ในเรื่อง การเลี้ยงดู และจากการสุ่มสอบถามความต้องการพ่อแม่ว่า เรื่องไหนเป็นปัญหาที่สนใจและต้องการเรียนรู้มากที่สุด
ต้องย้ำและบอกกันชัดๆ อีกครั้งค่ะว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของพ่อแม่หลายๆ คน ที่คิดว่าโทรทัศน์ทำให้ลูกมีสมาธิ เพียงเพราะเห็นว่าลูกนิ่งและสงบลงได้ทันทีที่จอภาพถูกเปิดขึ้น ความ จริงก็คือนอกจากโทรทัศน์จะไม่ได้ช่วยให้ลูกมีสมาธิแล้ว ยังทำให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนรู้หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้น้อยลงอีกด้วย
อีกทั้งในวัยเด็กนั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการในทุกๆ ด้านของชีวิตค่ะ เด็กต้องการความรัก ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่ ต้องการคนที่จะเป็นแม่แบบในการถ่ายทอดภาษา แนวคิด การกระทำ ต้องการการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสของจริง ต้องการกิจกรรมและคนที่จะคอยช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งความต้องการเหล่านี้โทรทัศน์ที่เป็นเครื่องจักรไร้ชีวิตไม่สามารถให้ได้
นอกจากนี้เด็กยังต้องการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการ เรียนรู้และการทำงานของ สมอง และสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดนั้นก็คือ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองนั่นแหละค่ะ เพราะระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่กอด พูดคุย เล่นหยอกล้อ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกับลูกนั้น ประสาทสัมผัสต่างๆ ของลูกกำลังได้รับการกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้เห็นหน้าตา สีหน้าของพ่อแม่ ได้ยินเสียง ได้รับการสัมผัสโอบกอดจากพ่อแม่ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้คิด ได้พูดคุยโต้ตอบ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองสมองน้อยๆ ของลูกกำลังทำงานอย่างเต็มที่ โดยมีการขยายเครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างใยประสาท ซึ่งถ้าประสาทสัมผัสต่างๆ ของเด็กได้รับการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ จุดเชื่อมต่อเหล่านี้ก็จะยิ่งพัฒนาแข็งแรงมากขึ้น จนกลายเป็นวงจรที่สมบูรณ์ แต่ถ้าไม่มีการใช้งานเซลล์สมองเหล่านั้นก็จะหมดสภาพและลีบฝ่อไปในที่สุด
ดังนั้นคิดดูง่ายๆ นะคะว่าถ้าวันหนึ่งๆ ลูกเรานั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โอกาสที่เขาจะได้ฝึกฝนการเคลื่อนไหวร่างกาย พูดคุยโต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็จะน้อยลง เพราะโทรทัศน์เป็นการสื่อสารทางเดียว (one way communication)ซึ่งนั่นอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารของลูก เช่น พูดช้าตามมาได้ ถ้าเรายังปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์จนเป็นกิจวัตร จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าโทรทัศน์ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสมองและพัฒนาการของ เด็กๆ เท่าไหร่ ไม่นับรวมผลลบในด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าพฤติกรรมเลียนแบบทั้งท่าทาง คำพูดไม่น่าเอ็นดู พฤติกรรมก้าวร้าวที่ลูกจำมาจากในทีวี ความคิดจินตนาการที่ค่อยๆ หดหายไป ปัญหาสุขภาพที่จะตามมา เช่น ปัญหาสายตาจากการที่ดูโทรทัศน์มากๆ ในระยะใกล้ๆ หรือโรคอ้วนจากการที่ลูกมีพฤติกรรมดูไปด้วยกินไปด้วยจนเป็นนิสัย
สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เราต้องหาทางเลือกที่ดีสำหรับ การ เรียนรู้ของลูกไปพร้อมๆ กับมีมาตรการการใช้โทรทัศน์ในบ้านของเราให้มากยิ่งขึ้นค่ะ
เปิดนิทาน…พัฒนาลูก Albert Einstein กล่าวไว้ว่า หากอยากให้เด็กฉลาดหลักแหลมเล่านิทานให้เขาฟัง และหากอยากให้เด็กฉลาดมากขึ้นเล่านิทานให้มากขึ้น เพราะการฟังนิทานแต่ละเรื่องนั้นเด็กๆ ต้องใช้พลังในการจินตนาการ ขณะเดียวกันนั้นเซลล์สมองของเด็กก็จะมีพัฒนาจุดเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้น ยิ่งได้ฟังซ้ำๆ การเชื่อมต่อนั้นก็ยิ่งมีประสิทธิภาพและมั่นคงมากขึ้น นั่นหมายถึงความสามารถในการคิด การเรียนรู้ และการจินตนาการก็มีมากขึ้นด้วย และนิทานยังใช้เป็นสื่อในการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเรียนรู้หลักคิด ศีลธรรม การให้คุณค่าหรือค่านิยมในการดำเนินชีวิตต่างๆ ได้ โดยการสอดแทรกผ่านเรื่องราวในนิทาน และสำหรับเด็กแล้วความน่าสนใจของนิทานไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าโทรทัศน์เลย เพราะนิทานมีรูปภาพเรื่องราวน่าติดตาม มีน้ำหนักเสียงหนักเบา ลีลาการเล่าของพ่อแม่ มีความอบอุ่นใกล้ชิดจากคนที่เด็กรัก ถ้าเพียงแต่เราจะเติมเต็มช่วงเวลาของลูกด้วยนิทานที่ลูกชอบอย่างสม่ำเสมอ
การพานิทานเข้าไปเป็นที่หนึ่งในใจลูกแทน โทรทัศน์ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ที่เหนือกว่าโทรทัศน์คือ นิทานฟังบ่อย เล่าบ่อยแค่ไหน หรือต่อให้เล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำก็ไม่มีพิษมีภัยกับวัยเด็ก ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีกับเด็กมากเท่านั้น
ตัวอย่างกิจกรรมที่สะท้อนการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น โครงการ Book Start ที่มีจุดประสงค์ให้เด็กรู้จัก คุ้นเคยกับหนังสือและการอ่านตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยเด็กแรกเกิดจะได้รับถุงของขวัญซึ่งภายในจะมีหนังสือนิทาน และคู่มือแนะนำพ่อแม่ถึงวิธีการเลือกหนังสือ ใช้หนังสือกับลูก และโครงการถุงรับขวัญที่มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือ และแนะนำแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองเด็กให้กับพ่อแม่ โดยภายในบรรจุสื่อเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น หนังสือ ของเล่นเสริมพัฒนาการ เทปเพลงกล่อม ฯลฯ แจกให้กับเด็กที่เกิดในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ถึง 27 กรกฎาคม 2549 ฉลาดใช้…รู้เท่าทันทีวี ภาพเคลื่อนไหว แสงสี เรื่องราวที่ชวนติดตามและความสนุกจากจอโทรทัศน์เป็นตัวล่อ และดึงดูดความสนใจของเด็กให้ติดกับได้อย่างดีอยู่แล้ว แล้วถ้าคุณพ่อคุณแม่เองมีความคิดว่าต้องใช้ทีวีเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ลูกอยู่นิ่งๆ ให้เรามีเวลาได้จัดการธุระส่วนตัวบ้าง หรือตัวเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ติดโทรทัศน์เหมือนกัน ก็ยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ลูกเล็กๆ ของเรามีเพื่อนรักเป็นโทรทัศน์ได้ไม่ยาก ยิ่งในปัจจุบันที่สื่อมีความหลากหลายมากขึ้น พ่อแม่ไม่ใช่แค่รับมือกับโทรทัศน์ช่องปกติ (Free TV) เท่านั้น แต่ยังต้องคอยรับมือกับเคเบิ้ลทีวีที่มีรายการมาเสิร์ฟถึงห้องนอนตลอด 24 ชั่วโมง ไหนจะวีซีดี เกมคอมพิวเตอร์อีก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ถ้าเพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จำกัดเวลาในการดูโทรทัศน์ของลูก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ควรหลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์ค่ะ ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 2 ขวบ วันหนึ่งๆ ไม่ควรให้ลูกอยู่หน้าจอโทรทัศน์นานเกิน 1-2 ชั่วโมง ที่สำคัญเราเองต้องเคร่งครัดกับสิ่งที่กำหนดนะคะ เพราะจะทำให้เราฝึกนิสัยการไม่เป็นเด็กติดโทรทัศน์ของลูกได้ผลมากขึ้น
- ต้องเป็นพ่อแม่ช่างเลือกค่ะ คือรู้จักที่จะคัดสรร รายการที่ดี ที่เหมาะสม มีการสอดแทรกเนื้อหาในเชิงบวกให้กับลูก แม้แต่การ์ตูนเองก็ต้องเลือกที่ลูกดูแล้วจะได้เรียนรู้จากเรื่องราวนั้นๆ ด้วย อย่าเห็นว่าขอให้เป็นการ์ตูนก็ใช้ได้นะคะ เพราะในการ์ตูนหลายเรื่องก็มีฉากการต่อสู้ การแสดงออกที่ก้าวร้าว ซึ่งลูกจะค่อยๆ ซึมซับรับเข้ามา และแสดงออกในลักษณะเดียวกันได้
- เป็นเพื่อนดูไปด้วยกันกับลูก และใช้รายการโทรทัศน์เป็นสื่อนำในการชักชวนลูกพูดคุย เรียนรู้และสนุกไปด้วยกัน อย่าปล่อยให้โทรทัศน์แย่งลูกและเวลาที่มีค่าไปจากเราค่ะ
- ตำแหน่งโทรทัศน์ในบ้านก็สำคัญ ในห้องนอนลูกไม่ควรมีโทรทัศน์ตั้งอยู่และไม่ควรเสียบปลั๊กโทรทัศน์ทิ้งไว้ ให้เด็กกดเปิดเองได้สะดวก เด็กๆ แค่เขาเห็นเราเปิดไม่กี่ครั้งก็จำและทำตามได้แล้วค่ะ
- มีทางเลือกในการทำกิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกเช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ เล่นเครื่องเล่นสนาม ต่อบล็อก เล่นขายของ เล่นบทบาทสมมติ ทำงานศิลปะ ถ้านึกไม่ออกก็ชวนลุกเล่นการละเล่นสมัยก่อนที่คุณพ่อคุณแม่ เคยเล่นเมื่อครั้งเป็นเด็กสิคะ หรือชวนลูกช่วยทำงานบ้าน เช่น ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ หรือไปเที่ยวนอกบ้าน ไปช็อปปิ้ง ปิกนิกหรือทำธุระกับคุณพ่อคุณแม่นอกบ้านบ้าง เป็นต้น
- ระวัง อย่าให้ตัวเราเองกลายเป็นแบบอย่างของการดูโทรทัศน์ให้ลูกไป เราควรเป็นแบบอย่างในการทำกิจกรรมที่อยากส่งเสริมให้ลูก เช่น เวลาว่างอ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ แทนการดูโทรทัศน์ เป็นต้น
วิธีดังกล่าวไม่ยากเกินแรงคุณพ่อคุณแม่เลยใช่ไหมคะ เห็นโทษของการปล่อยปละให้ลูกอยู่กับเจ้าเครื่องสี่เหลี่ยมไร้ชีวิตอย่างนี้ แล้วเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังนับแต่วินาทีนี้เลยค่ะ
จาก – นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 270 กรกฎาคม 2548