โดย : ปริญญา ชาวสมุน
อาชีพ แต่ละอาชีพย่อมมีความแตกต่าง แม้บางอย่างจะคล้ายคลึงกันก็ตามที เหมือนนักข่าวและนักเขียนที่มีเพียงเส้นบางๆ คั่นกลางระหว่างสองอาชีพนี้ไว้
ทว่า แก่นแกนสำคัญของทั้งสองอาชีพคือ ‘การเขียน’
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดเลย หากจะพบเห็นนักข่าวมาเป็นนักเขียนหรือนักเขียนมาเป็นนักข่าว เฉกเช่นเดียวกับ นครินทร์ ศรีเลิศ นัก ข่าวหนุ่มสายเศรษฐกิจ แห่งหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ แม้อายุงานของเขา ณ องค์กรสื่อแห่งนี้จะไม่มากมายนักเพียงปีครึ่งเท่านั้น แต่เมื่อครั้งร่ำเรียนเขียนอ่านที่มหาวิทยาศิลปากร เขาก็ไม่เคยห่างจากการเขียนหนังสือเลย มิหนำซ้ำยังมีผลงานตีพิมพ์อีกด้วย
“ช่วงที่เรียน มหาวิทยาลัยที่ศิลปากร เขียนหนังสือคู่กับเรียนหนังสือมาแทบจะตลอด อย่างไรก็ตามงานที่ได้ตีพิมพ์ก็มีไม่มากนัก มีนวนิยายเรื่อง เกลียวคลื่นกับผืนดิน เรื่องสั้น มหัศจรรย์วันวานย้อนตำนานอากง เด็กเก็บบอล ลานทรงพล และเรื่องพญาอินทรีย์“
ย้อนไปเมื่อชั้นปีที่หนึ่ง นครินทร์ เริ่มสนใจและลงมือเขียนหนังสือ แม้จะเริ่มต้นไม่นานแต่เขาก็กล้าหาญชาญชัยส่งผลงานนิยายเข้าประกวดรางวัล Young Thai Artist Award ของมูลนิธิเครือซิเมนต์ไทย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และชิงทุนการศึกษา ผลคือ นิยายของเขาเข้ารอบ 10 เล่มสุดท้าย แต่ผลงานของเขากลับไม่ได้รับการเผยแพร่
“มูลนิธิฯ เขาตีพิมพ์เรื่องที่เข้ารอบ 5 เรื่องแรกเท่านั้น เรื่องของผมก็เลยอดตีพิมพ์ แต่หลังจากนั้นก็ส่งเรื่องไปทุกปี เพื่อรับทุนการศึกษา มีปีสี่ที่ไม่ได้ส่งเพราะเรียนหนักมาก”
ความพลาดหวังครั้งหนึ่งมิอาจกำหนดชะตาทั้งชีวิตฉันใด เส้นทางสายน้ำหมึกของนครินทร์ก็ยังคงดำเนินต่อฉันนั้น หลังจากได้เริ่มต้นเขียนหนังสือ เขาก็ติดอกติดใจรสแห่งวรรณกรรมอันกลมกล่อม ทยอยส่งผลงานให้ประจักษ์แก่สายตาประชากรบรรณพิภพอยู่เนืองๆ จนกระทั่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนชนแห่งประเทศไทย จัดประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้น “รางวัลอิศรา อมันตกุล” ขึ้น เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนในวงการสื่อทุกแขนงที่สนใจเขียนงานวรรณกรรมนั่นแหละ จึงทำให้เรื่องสั้นสองเรื่องของ นครินทร์ ศรีเลิศ เข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้าย ได้แก่ ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ และ ‘แทบเล็ตของติ๋ม’ ซึ่งทำให้แววความสำเร็จด้านการเขียนเริ่มฉายชัดอีกครั้ง
สำหรับการประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้น “รางวัลอิศรา อมันตกุล” นั้น จัดขึ้นในปี 2555 เป็นปีแรก เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมคนในวงการสื่อสารมวลชนที่สนใจการเขียนวรรณกรรม โดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าการประกวดเรื่องสั้นรางวัลอิศราจะเพิ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ แต่ก็มีนักข่าวสายนักเขียนระดับยอดฝีมือร่วมชิงชังไม่น้อยเลย ชื่อบางคนคุ้นหูคุ้นตากันดีในบรรณพิภพ ชื่อบางคนก็ใหญ่โตพอจะทำให้ผู้ร่วมประกวดคนเล็กคนน้อยรู้สึกหวาดๆ กันบ้างก็มี
แต่ในที่สุด ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ ของนครินทร์ก็ทะยานขึ้นแท่นคว้ารางวัลชนะเลิศจนได้ และด้วยค่าที่เรื่องสั้นของเขากรุ่นกลิ่นเทคโนโลยี ทั้งยังหยิบจับการทำงานของนักข่าวซึ่งเขารู้ซึ้งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมาเป็น จุดขายของเรื่อง เมื่อโลกเทคโนโลยีกับบรรณพิภพบรรจบกัน เรื่องสนุกๆ ในมุมมองของนักข่าวที่ต้องคลุกคลีตีโมงกับ ‘ทวิตเตอร์’ เพื่อชิงความได้เปรียบส่งข่าวแข่งกับสื่อโทรทัศน์และวิทยุ จึงเกิดขึ้น
“จริงๆ ผมใช้ทวิตเตอร์มาประมาณหนึ่งปี ตามนโยบาย Mobile Journalist ขององค์กร ซึ่งพอจะเขียนเรื่องนี้ก็เริ่มศึกษาโปรแกรมทวิตเตอร์มากขึ้น เก็บข้อมูลสถิติต่างๆ ที่อาจเอามาย่อยเป็นองค์ประกอบของเรื่องสั้นได้ คำถามแรกที่ค้นหาก็คือ ผมอยากรู้ว่ามีคนไทยที่ใช้ทวิตเตอร์จำนวนเท่าไร ปริมาณข้อความที่เราทวีตกันประมาณวันละเท่าไร ซึ่งก็ต้องขอบคุณเว็บไซต์ Zocialrank ที่ได้สรุปสถิติเกี่ยวกับการทวีตบนเว็บไซต์ทวิตเตอร์ (Twitter) ของคนไทย ตลอดปี 2554 เอาไว้ พอเริ่มลงมือเขียนเวลาเราเขียนประโยคที่ตัวละครทวีตข้อความลงไป ผมก็ลองพิมพ์ข้อความลงในโปรแกรมจริงๆ นะ อย่างข้อความแรกที่บอกว่า ข้อความครบ 140 ตัวอักษรพอดี ก็ทดลองจนได้ตามนั้นจริงๆ เพราะเราต้องการแสดงเอกลักษณ์ของทวิตเตอร์ไว้ในข้อความนั้น ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับตรงนี้มากเป็นพิเศษ
หลังจากเขียนเสร็จก็เป็นขั้นตอนของการขัดเกลาถ้อยคำ ให้สละสลวยขึ้น ซึ่งทำควบคู่ไปกับการเขียนเชิงอรรถอธิบายศัพท์บางคำ เช่น ฟอลโลว์เวอร์ หรือรีทวีต เพราะเราต้องคิดเผื่อด้วยว่าบางทีคนอ่าน (กรรมการ) อาจจะไม่ได้เล่นทวิตเตอร์จะได้เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร
นอกจากได้ใช้ประโยชน์จากทวิตเตอร์เพื่อทำการงานแล้ว เขายังมองทวิตเตอร์เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถ่ายไปได้อีกหลายประเด็นความ
“ผมมองทวิตเตอร์ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมนะ และเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ มีเวลาน้อยแต่ต้องการรู้ข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งด้านหนึ่งก็คือภาพสะท้อนของสังคมบริโภคนิยมนั่นเอง ที่สำคัญแม้จะมีคนใช้ทวิตเตอร์เป็นจำนวนมากแต่เท่าที่ทราบผมยังไม่เคยเห็น เรื่องสั้นที่เขียนเกี่ยวกับทวิตเตอร์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องท้าทายที่จะเขียนมันขึ้นมา”
อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นจนโดดเด้งออกมาจากบรรดาเรื่องสั้นอื่นๆ คือชื่อเรื่อง แม้คำว่า ‘ทวิตภพ’ จะแพร่หลายในทวิตเตอร์มานานแล้ว แต่เมื่อพ้องกับชื่อเรื่อง ‘ทวิภพ’ ของนักเขียนระดับปรมาจารย์อย่าง ทมยันตี ย่อมน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ทว่า นครินทร์ตั้งใจให้ทวิตภพสื่อถึงโลกอีกดวงที่กำลังถูกให้ค่าเหนือโลกจริงซึ่ง มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่
“คำว่า ‘ทวิตภพ’ เป็นคำที่ผมเห็นบางคนใช้ในการสื่อสารในทวิตเตอร์ บางคนตื่นขึ้นมายังไม่ได้ทักทายคนที่นอนอยู่ข้างๆ หรืออยู่บ้านเดียวกัน แต่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาทวีตข้อความ “อรุณสวัสดิ์ ชาวทวิตภพ” ไม่ได้ตั้งใจให้พ้องกับชื่อเรื่อง ‘ทวิภพ’ ของคุณทมยันตี แต่ความหมายที่ตั้งใจสื่อคือ ภพ ก็คือ ‘โลก’ นัยหนึ่งคือ โลกเสมือนจริง ซึ่งต่างจากโลกแห่งความจริงก็อยากให้คนอ่านตั้งคำถามว่าโลกที่เรารับรู้ผ่าน การใช้เทคโนโลยีบางทีอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมดก็ได้”
เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องสั้น ‘แทบเล็ตของติ๋ม’ ที่ผ่านเข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้ายเช่นกัน ทั้งยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับเครื่องมือสื่อสารทันสมัยเหมือนกัน แต่นครินทร์ถ่ายทอดให้ทั้งสองเรื่องเดินกันคนละทางชัดเจน เขาตั้งใจให้ ‘แทบเล็ตของติ๋ม’ เล่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายและมาตรการรัฐซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น โดยมีตัวละครเป็นตัวแทนของคนอื่นในสังคม ส่วน ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ คือการหยิบยกเหตุการณ์และปัญหาหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาเขียนในเชิงตั้งคำถาม
นครินทร์เล่าว่า ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ คือเครื่องมือสื่อสารที่เขาใช้ถ่ายทอดสู่คนอ่าน “เทคโนโลยีอาจสร้างนิสัยให้คนยึดติดกับเทคโนโลยีจนลืมตั้งคำถามว่าเรื่อง นั้นจริงหรือไม่จริงเพียงไร และแม้เทคโนโลยีจะช่วยให้คนในทุกมุมโลกเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ แต่ลึกๆ แล้วในความเป็นมนุษย์ องค์ประกอบที่สำคัญก็คือ ต้องการความรักความเข้าใจ ‘ผม’ ในเรื่องจึงคาดหวังว่าในที่สุดทวิตเตอร์จะพาไปพบกับผู้ที่จะเข้าใจและยอมรับ ในความเป็นตัวตนของเขา”
ตัวละคร ‘ผม’ ในเรื่อง ถูกสมมติขึ้นตามวิธีการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง หากมองอย่างผิวเผินแล้ว ‘ผม’ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักข่าวที่ต้องใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางรับส่งข่าวสาร อีกทั้งยังใช้เพื่อหาบางสิ่งที่มนุษย์พึงปรารถนา อาจคล้ายว่า นครินทร์กำลังเล่าเรื่องส่วนตัวให้ส่วนรวมร่วมรับรู้ก็เป็นได้ แต่นครินทร์ก็ปฏิเสธว่า ‘ผม’ ไม่ใช่ ‘ผม’ เสียทั้งหมด แต่ก็มีหลายส่วนเป็นความรู้สึกที่ตกค้างมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการ เมือง
“ผมเก็บเอาเรื่องราวที่ได้ฟังพี่ๆ นักข่าวการเมืองเล่าประสบการณ์ในการออกไปทำข่าวในช่วงที่มีการปะทะกัน ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐมาเขียน อีกส่วนหนึ่งที่เขียนเป็นในแง่ตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกันก็คือทุกวันนี้เรา เห็นผู้ชุมนุมเห็นม็อบบ่อยๆ พวกเรารู้สึกอย่างไร มีใครตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของพวกเขาบ้างหรือเปล่า ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราตั้งคำถามให้ลึกไปกว่าว่า “ไอ้พวกนี้ถูกจ้างมา” ผมเชื่อว่าปัญหาในสังคมจะถูกแก้ไขมากขึ้น”
นอกจากนี้นครินทร์ยังเล่าต่อว่า เรื่องสั้น ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ ไม่ได้สื่อสารกับคนอ่านเพียงประเด็นเดิมๆ นี้ ประเด็นเดียว เขาต้องการฉายภาพการรายงานข่าวที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี รวมทั้งพฤติกรรมในการรับรู้ข่าวสารที่เปลี่ยนไป เขาต้องการบอกเล่าการทำงานของสื่อมวลชนในสถานการณ์ขัดแย้ง เขาอยากสะท้อนความขัดแย้งในสังคมไทยที่ชนวนมาจากปมปัญหาทางการเมือง และเขาอยากกล่าวถึงการแสวงหาความรักและการยอมรับอันเป็นความคิดพื้นฐานของ มนุษย์
นอกจากนครินทร์จะเป็นนักข่าวนักเขียนมือดีแล้ว วัตถุดิบต่างๆ รวมทั้งลีลาภาษาย่อมได้มาจากการอ่านทั้งสิ้น เขาคือนักอ่านตัวยง อ่านหลากหลาย โดยเฉพาะนิยายแปล แนวสืบสวนสอบสวน การผูกเงื่อนปม ดำเนินเรื่อง กระทั่งคลี่คลาย จึงค่อนข้างสละสลวย ขณะที่เขากำลังรังสรรค์ ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ หนังสือ ‘เส้นสมมติ’ ของ วินทร์ เลียววาริณ ซึ่งเป็นแรงขับหนึ่งในผลงานเรื่องสั้นระดับรางวัลของเขา
“หนังสือเรื่อง เส้นสมมติ มีอิทธิพลต่อเรื่อง ทวิตภพฯ หรือไม่ คงมีผลบ้างเนื่องจากหนังสือเรื่องนี้เขียนเรื่องความสัมพันธ์ของคนในรูปแบบ ต่างๆ แต่เรื่องสั้นที่เขียนขึ้นมาแต่ละเรื่องคงไม่ได้มีแรงขับจากหนังสือเล่มใด เล่มหนึ่งโดยเฉพาะแต่เป็นส่วนผสมของประสบการณ์หลายๆ อย่าง ทั้งประสบการณ์ชีวิต และประสบการณ์ที่เคยอ่านหนังสือสะสมมา”
เรื่องสมมติจึงไม่สมมติอีกต่อไป เขาส่งงานเข้าประกวดทั้งๆ ที่ไม่ได้เขียนมานานนับปี ทั้งยังเกือบส่งงานไม่ทันเพราะกว่าจะส่งไปรษณีย์ก็เกือบปิดแล้วในวันสุดท้าย กำหนดส่งผลงาน แม้ต้นทางของงานจะทุลักทุเลอยู่บ้าง แต่เรื่องสั้นของเขาก็ไปถึงมือคณะกรรมการจนได้ ที่สำคัญเข้าตากรรมการอีกด้วย…’ทวิตภพ ทวิตพบ’ ได้รางวัลชนะเลิศ
“ผมรู้สึกดีใจระคนแปลกใจ จริงๆ รู้สึกดีใจตั้งแต่ตอนที่เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องเข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้าย พอไปถึงที่งานประกาศรางวัลเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอกอะไร แต่เราเห็นเรื่องสั้นของเราได้รางวัลที่ 1 ก็รู้สึกภูมิใจ ตื่นเต้นและเคอะเขินเล็กน้อยตอนที่ต้องขึ้นไปรับรางวัล”
ไม่ว่าสิ่งใดจะเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความสำเร็จ รางวัลคือหนึ่งในสิ่งอันทรงเกียรตินั้น สำหรับนครินทร์ก็เฉกเช่นกัน…
“รางวัลเรื่องสั้นอิศราถือเป็นความสำเร็จที่น่ายินดีอย่างหนึ่ง แต่ในฐานะคนเขียนหนังสือทุกเรื่องที่เขียนเสร็จได้อย่างที่ตั้งใจ ทุกเรื่องที่มีคนอ่านแล้วชอบ หรือไม่ชอบแต่มีคำติชมที่เป็นประโยชน์ถือเป็นความสำเร็จเช่นกัน”
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนักข่าวและนักเขียนคล้ายคลึงกันมาก มีเพียงเส้นบางๆ คั่นกลางไว้ แล้ว ‘เส้นบางๆ’ ที่ว่าคืออะไร ในฐานะที่นครินทร์ได้ลอดผ่านเส้นดังกล่าวโดยสมบูรณ์แล้ว ทั้งข่าวและวรรณกรรมเขา “เอาอยู่ !”
“ผมคิดว่างานวรรณกรรมกับงานข่าวเป็นการเล่าเรื่องเหมือนกัน แต่งานวรรณกรรมหรืองานเขียนเราเล่าเรื่องแต่ง อาจเป็นเรื่องแต่งที่อิงจากเรื่องจริงผสมกับจินตนาการ ขณะที่งานข่าวเราต้องเล่าเรื่องจริงทั้งหมดจะเอาเรื่องแต่งมาอิงด้วยไม่ได้ ถามว่าชอบงานแบบไหนมากกว่าคงตอบว่าชอบทั้ง 2 อย่างเท่าๆ กัน ส่วนจะถนัดอย่างไหนมากกว่ากันต้องตอบว่าความถนัดเปลี่ยนไปตามระยะเวลา ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเราถนัดเขียนเรื่องสั้นมากกว่า แต่ปัจจุบันก็คิดว่าถนัดเขียนข่าวมากกว่าเพราะข่าวเราต้องเขียนแทบทุกวัน อย่างไรก็ตามทั้งข่าวและเรื่องสั้นผมคิดว่าตัวเองยังพัฒนาได้ ไม่ใช่ว่าวันนี้บอกว่าถนัดเขียนข่าวแล้วจะหยุดฝึกเขียนข่าว ขณะเดียวกันเรื่องสั้นก็ต้องพัฒนาการเขียนไปได้เรื่อยๆ เพราะจริงๆ แล้วเรื่องสั้นมีวิธีการนำเสนอที่หลากหลายมาก”
เขายกตัวอย่างสิ่งที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พูดไว้อย่างน่าประทับใจว่า “ในอดีตนักข่าว และนักเขียนเป็นคนคนเดียวกัน” ซึ่งเขาก็เชื่อว่านักข่าวเป็นนักเขียนที่ดีได้ เพราะอาชีพนักข่าวเปิดโอกาสให้ได้รับรู้ข้อมูลมากดังนั้นจึงมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากมีวัตถุดิบให้เลือกมาเขียนได้มากมาย
ความสำเร็จของ นครินทร์ ศรีเลิศ ในวันนี้เป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวของเขา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกหลายคนที่อยากเดินตามรอย บางคนอาจเริ่มเขียน บางคนอาจยังเคอะเขินไม่กล้าเขียน แต่เจ้าของรางวัลเรื่องสั้นอิศราคนนี้เชื่อมาตลอด คือ ถ้าอยากเขียนต้องเริ่มเขียน หยุดเป็นนักคิดแล้วเปลี่ยนเป็นนักปฏิบัติ
“การเขียนหนังสือเป็นการทำงานที่ช่วยให้เราเปลี่ยนจากนักคิดมาเป็น นักปฏิบัติ ดังนั้นใครที่อยากเขียนหนังสือ ต้องเลิกพูดว่าจะเขียน หรือว่าจะเขียน แต่ต้องลงมือเขียน ที่สำคัญนอกจากฝึกเขียนเราต้องฝึกคิดควบคู่กันไปด้วย เพราะยิ่งคิดได้ตกผลึกเท่าไรสิ่งที่เราเขียนก็จะชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น”
และแล้วสิ่งที่ตกผลึกในสมองของเขาก็ผ่านกระบวนการ ‘เขียน’ กลายเป็นเรื่องสั้นคุณภาพ ‘ทวิตภพ ทวิตพบ’ ประจักษ์แก่สายตาคนอ่านและผงาดอย่างงามสง่าบนเวทีวรรณกรรมอีกด้วย
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com ( http://bit.ly/LKdYio )