นักศึกษาใหม่ทั้งหลายอาจไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนโชคดีแค่ไหนในโลก ลองดูตัวเลขสักเล็กน้อย ประชากรโลกในปัจจุบันคือ 6,000 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียงครึ่งเดียวคือ ประมาณ 3,000 ล้านคน เท่านั้นที่มีอาหารกินครบทุกมื้อ มีชีวิตที่มั่นคงและเป็นปกติพอควร สมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในจำนวน 3,000 ล้านคนนี้ มีไม่ถึงร้อยละ 10 หรือ 300 ล้านคน ที่มีโอกาสเรียนในระดับอุดมศึกษา
นั่นแสดงว่าจำนวนคน 300 ล้านคน ในประชากรโลก 6,000 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น ที่มีโอกาสอย่างท่านทั้งหลายในขณะนี้ ที่มีความหวัง มีอนาคตสดใส มีงานที่ดีมั่นคง มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีชีวิตที่สุขสบาย มีโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวและคนอื่นๆ ร่วมสังคมของเรารออยู่ข้างหน้า นี่คือความโชคดีมหาศาลที่ท่านอาจไม่ทราบมาก่อน
ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังมีร่างกายสมประกอบ แข็งแรง สุขภาพดี มีหน้าตาสดใส สดสวย และมีมันสมองที่ดีพอจะเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย คนจำนวนมากมายในโลกนั้น ขอเพียงมีอาหารครบทุกมื้อไม่ต้องถึงกับได้เรียนมหาวิทยาลัยก็มีความสุขสุดๆแล้ว
ปัญหาก็คือ เมื่อเราเกิดมาโชคดีขนาดนี้ มีความหวังและสิ่งดีๆ รออยู่ข้างหน้าแล้ว เราจะทำอย่างไรกับชีวิตของเราในช่วง 4 ปีข้างหน้า เรื่องนี้น่าขบคิดเป็นอย่างมากเพราะหมายถึงว่าเราจะทำให้สิ่งที่เชื่อว่าดีในอนาคตนั้นดีจริงและดีอย่างเป็นเลิศได้อย่างไร
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ที่อยู่ในแวดวงอุดมศึกษามากว่า 30 ปี ที่เห็นคนเดินเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่วันแรกและจบออกไปจำนวนมากมาย มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวจากชีวิต 4 ปีในมหาวิทยาลัย
ขอยืนยันได้ว่าสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้แตกต่างกันนั้นไม่ใช่ไอคิวหรือพื้นฐานความรู้ดั้งเดิมที่มีมา หากแต่เป็นทัศนคติของเขาเองที่มีต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษา เมื่อเริ่มเข้าเรียนซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมของเขาในมหาวิทยาลัยต่อไป
คนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะเป็นคนที่ตระหนักดีว่า โอกาสในชีวิตของคนๆ หนึ่งที่จะได้เรียน ในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มเวลานั้นมีจำกัดยิ่ง
ถ้าหากล้มเหลวไม่จบแล้ว โอกาสที่สองนั้นเกิดขึ้นได้ยากนักหนา เพราะไหนอายุจะมากขึ้น สมองช้าลง ความจำเป็นในการทำงานหาเลี้ยงชีพก็มีมากขึ้น ความรับผิดชอบในชีวิตของคนอื่นที่กิน ทั้งเวลาและเงินทองนั้นก็มีมากขึ้น และการหวนกลับมาเรียนอย่างอิสระเช่นคนวัยนี้นั้นเป็นสิ่งที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้
คนที่ประสบความสำเร็จนั้น จะมองเห็นชัดเจนว่า 4 ปีข้างหน้า คือช่วงเวลาแห่งการไต่บันไดสู่ชีวิต แห่งความกินดีอยู่ดี มีเกียรติ ได้รับการยกย่องจากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านและสังคม ซึ่งหมายถึงการตั้งใจที่จะบากบั่นศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มกำลัง ขวนขวายหาความรู้ ฝึกฝนพัฒนาบุคคลิกภาพของตนเอง ซึ่งอาจได้มาจากการร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เพื่อทำให้บันไดนั้นทอดไปสู่ความมั่งคั่งสมบูรณ์อย่างแท้จริง
คนที่ประสบความสำเร็จจะไม่มองว่าความรู้เดินมาหาตนเอง ไม่มองว่าความรู้มาจากการงัดปากและป้อนด้วยคณาจารย์ หากมองว่ามาจากความบากบั่น อดทน ขยันหมั่นเพียร ในการแสวงหาความรู้จากอาจารย์ จากการอ่านหนังสือ จากการคิดวิเคราะห์ จากการถกเถียงทางวิชาการ จากการฝึกฝนเล่าเรียนด้วยสื่อการสอนสาระพัดชนิดที่มหาวิทยาลัยจัดหาไว้ให้ด้วยตนเอง
คนเหล่านี้จะมองว่าทางลัดสู่การมีความรู้และการมีชีวิตแห่งความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีนั้นไม่มีทุกอย่างล้วนได้มาด้วยความบากบั่น ต้องเดินตามเส้นทางที่เป็นไปตามขั้นตอนเท่านั้น คนที่ประสบความสำเร็จนั้นตระหนักว่าทุกคนมีความเก่งกันคนละอย่าง โลกมิได้มีแต่ความเก่งในเรื่องการคิดวิเคราะห์ ซึ่งทำให้สอบได้เก่งเท่านั้น ยังมี…
ความเก่งในการมีมนุษย์สัมพันธ์กับคนอื่น
ความเก่งในเรื่องกีฬาและศิลปะ
ความเก่งในเรื่องการพูดโน้มน้าวใจคนอื่น
ความเก่งในเรื่องการจัดสัดส่วนและช่องว่าง อันเป็นฐานสำคัญของการเป็นสถาปนิกหรือช่างศิลปะ
ความเก่งในเรื่องการจัดการอารมณ์ของตนเองและคนอื่น
ความเก่งในเรื่องดนตรี ฯลฯ
เขาเหล่านี้ตระหนักดีว่าโลกเต็มไปด้วยคนเก่งหลายลักษณะ และกลุ่มคนที่ครองโลกเพราะมีจำนวนมากที่สุดนั้น ก็คือคนที่มีความเก่งในเรื่องเหล่านี้อย่างปานกลาง
หากมีทักษะความรู้และคุณลักษณะประจำตน ในเรื่องศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมอื่นๆ ประกอบอย่างสำคัญ คนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ มองว่าตัวเขาเองเป็นคนมีค่า ชีวิตของเขาสามารถสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อผู้อื่นเพราะตระหนักว่าใน 100 คนในโลก มีคนที่มีโอกาสและมีสติปัญญาสามารถเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้เพียง 5 คนเท่านั้น ถ้าเขาไม่เอาไหนเลยก็คงจะไม่มีโอกาสได้อยู่ในกลุ่มคนที่ฝรั่งเรียกว่า TOP 5 % ของโลกเป็นแน่
มนุษย์เลือกที่เกิดไม่ได้ เลือกที่จะมีหน้าตาสวยหรือหล่อสุดๆ ไม่ได้ เลือกที่จะร่ำรวยมั่งคั่งไม่ได้ และเลือกที่จะได้สิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกการควบคุมของตนเองไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เลือกได้อย่างแน่นอน และอยู่ภายใต้การควบคุมของตนเองก็คือ ทัศนคติในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติต่อการเรียนมหาวิทยาลัย
เชื่อเถอะว่านักศึกษาในวันนี้จะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีอนาคตแห่งการกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน หรือเป็นบุคคลล้มเหลว เรียนไม่จบมหาวิทยาลัยและเสียดายโอกาสทองของชีวิตในวันข้างหน้านั้นอยู่ที่ตัวทัศนคติ เมื่อแรกเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยนี่แหละเป็นตัวตัดสิน
โดย อ.วรากรณ์ สามโกเศศ
ที่มา…ศูนย์สนเทศและห้องสมุด ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
http://www.dpu.ac.th/laic/page.php?id=6033
http://www.facebook.com/LoveAtFirstRead2?ref=ts&fref=ts